คมนาคมดัน ’สายการเดินเรือแห่งชาติ–แลนด์บริดจ์’ จ่อดึงนักลงทุนต่างชาติร่วม

‘ศักดิ์สยาม’สั่งเดินหน้านโยบายขนส่งทางน้ำเต็มรูปแบบเชื่อมโยงการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ผุด”สายการเดินเรือแห่งชาติ–แลนด์บรดิจ์” จ่อ Road Show ต่างประเทศดูดนักลงทุนต่างชาติ

10 ธ.ค.2564-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ พร้อมทั้งรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดต้นทุน โลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าของประเทศ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง จากถนนสู่เรือให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ได้มอบให้ กรมเจ้าท่า(จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้า เชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกให้เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้

อย่างไรก็ตามได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 เส้นทาง คือ 1.การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน จท. ได้ร่วมกับบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด นำเรือ Ro-Ro Ferry “The Blue Dolphin” เดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าว เส้นทางระหว่าง จ.ชลบุรี–จ.สงขลา เปิดให้บริการเส้นทางสัตหีบ–สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาสายการเดินเรือภายในประเทศ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศ โดยได้เริ่มทดสองให้บริการเดินเรือเมื่อ พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา และมีแผนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2565 ซึ่งในระยะแรกจะเปิดให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด)-ท่าเรือสวัสดิ์ จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจร ลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 90,000 คันต่อปี

2.การเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็น สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีนญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตกได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือกลุ่ม BIMSTEC คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปี 2565 นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ระหว่าง จ.ชุมพร–จ.ระนอง ให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ทั้งนี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาบทเรียนและความสำเร็จของช่องทางการเดินทาง โดยเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีการจัด Road show ในงานแสดงสายการเดินเรือระดับโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการเดินทางและค่าใช้จ่ายและมาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตุรกี ฝรั่งเศสอังกฤษ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปี 2565 ซึ่งจะมีปริมาณสินค้าเข้าประมาณ 20 ล้านทีอียู ถือเป็นความท้าทายที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

เพิ่มเพื่อน