สนข.เคาะโมเดลลงทุน “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้านบาท เปิดเส้นทางเชื่อมการขนส่งท่าเรือ “ชุมพร – ระนอง”จ่อชง ครม.ใหม่เห็นชอบแผน ก่อนโรดโชว์เอกชนต่างชาติลงนามประมูลปี 68 รับสัมปทาน 50 ปี มั่นใจเป็นฮับใหม่หนุนสายการเดินเรือทั่วโลกใช้บริการ
4 ส.ค. 2566 – นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ สนข.ได้ศึกษาจุดที่ตั้งของการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทยแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีที่ตั้งฝั่งอันดามันอยู่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และฝั่งอ่าวไทยอยู่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร
โดยโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์นอกจากจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับสายการเดินเรือขนส่งสินค้าจากทั่วโลกแล้ว ยังจะมีการพัฒนาโครงการโลจิสติกส์อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการขนส่งตู้สินค้าจากท่าเรือทั่งสองแห่ง โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร – ระนอง เช่นเดียวกับกรมทางหลวง(ทล.) จะพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง (MR8)
สำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแลนด์บริดจ์นั้น สนข.ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท
“ก่อนหน้านี้ สนข.ได้ศึกษาแผนพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ตามที่ได้รับมอบหมายแล้วเสร็จ แต่เสนอไม่ทันรัฐบาลชุดก่อน จึงคาดว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะสามารถผลักดันแผนพัฒนาโครงการนี้ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบทันที ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EHIA) ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้มีความจำเป็นในการพัฒนา ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะเข้ามาบริหารก็จะมีการผลักดันต่อเนื่อง”นายปัญญา กล่าว
นายปัญญา กล่าวว่า หาก ครม.เห็นชอบกรอบการพัฒนาโครงการแล้ว สนข.จะเดินหน้าในขั้นตอนเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน โดยมีเป้าหมายจัดทำโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจสายการเดินเรือประมาณ 10 ประเทศอาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น โดยหลังจากเชิญชวนเอกชนแล้วเสร็จ จะนำข้อเสนอต่างๆ มาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ต้นปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568
“รูปแบบการลงทุนที่ สนข.ศึกษาไว้ในปัจจุบัน จะเปิดกว้างเอกชนต่างชาติให้สามารถถือหุ้นเกิน 50% ในการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการนี้ เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการลงทุนสูง โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสัมปทาน 50 ปี ซึ่งประเมินว่าเป็นช่วงสัญญาสัมปทานที่จะจูงใจเอกชนและมีความคุ้มค่าทางการลงทุนน นอกจากนี้สนข.ประเมินด้วยว่าเพื่อความคล่องตัวทางการลงทุน จะเปิดประมูลรวมสัญญาเดียว เพื่อมอบสิทธิบริหารโครงการให้กับเอกชนทั้งท่าเรือน้ำลึกชุมพร – ระนอง รวมไปถึงมอเตอร์เวย์และโครงการรถไฟ”นายปัญญา กล่าว
ทั้งนี้ สนข.มั่นใจว่าปีแรกของการเปิดให้บริการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ หรือราวปี 2573 จะมีปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือระนอง จำนวน 19.4 ล้าน ที.อี.ยู แบ่งเป็น 1.สินค้าถ่ายลำ จำนวน 13.6 ล้าน ที.อี.ยู 2.สินค้านำเข้า – ส่งออกของไทย จำนวน 4.6 ล้าน ที.อี.ยู และ 3.สินค้าจากจีนตอนใต้ และกลุ่ม GMS จำนวน 1.2 ล้าน ที.อี.ยู
ส่วนท่าเรือชุมพร จะมีสินค้าผ่านท่า จำนวน 13.8 ล้าน ที.อี.ยู แบ่งเป็น 1.สินค้าถ่ายลำ จำนวน 12.2 ล้าน ที.อี.ยู2.สินค้านำเข้า – ส่งออกของไทย จำนวน 1.4 ล้าน ที.อี.ยู และ 3.สินค้าจากจีนตอนใต้ และกล่ม GMS จำนวน 2 แสนที.อี.ยู ส่งผลให้ สนข.วางพัฒนาพัฒนาท่าเรือทั้งสองแห่งให้สามารถรองรับตู้สินค้าสูงสุดได้ 20 ล้าน ที.อี.ยู
นายปัญญากล่าวว่า เมื่อการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเสร็จจะส่งผลบวกต่อประเทศไทยสู่การเป็นเกตเวย์เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคคตะวันออก (อีอีซี) สู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC เป็นศูนย์กลางจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าของสายการเดินเรือทั่วโลก ลดระยะเวลาการเดินทางเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือระหว่างมหาสุมทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ
ทั้งนี้สนข.ยังมีแผนดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นสนข.จะมีการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ไปยังสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และจัดทำเอกสารประกวดราคา (อาร์เอฟพี) เพื่อคัดเลือกผู้ลงทุน แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 หากการจัดตั้งสำนักงานฯแล้วเสร็จ รวมทั้งร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว สนข.จะมอบหมายให้ทางสำนักงานฯเป็นผู้ดูแลต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น
'จตุพร' ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ ชี้แม้ลาออกจากพท.แล้วแต่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น ยุรีบตั้งทั้งบ่อน ทั้งแลนด์บริดจ์ ซุกที่ดิน 99 ปี เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น ถึงคราต้องลุกต่อต้านรัฐบาลขายแผ่นดิน
คนใต้ประเดิมยกแรก 'อุ๊งอิ๊งค์' โละทิ้งแลนด์บริดจ์
ชาวบ้านรักษ์พะโต๊ะ-รักษ์ระนอง เตรียมยื่นข้อเรียกร้องนายกฯ ใหม่ ทบทวน แลนด์บริดจ์ และ พ.ร.บ. SEC ขีดเส้นยกเลิกโครงการ
ปูดรัฐบาลเหิมเกริมสั่งสื่อทีวีปิดปาก 'จตุพร' แลกผลประโยชน์ ปลุกปชช.ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง
ปูดรัฐบาลเหิมเกริม สั่งสื่อทีวีปิดปาก 'จตุพร' แลกผลประโยชน์ หวั่นขุดความจริงประจาน ทำ ปชช.รู้ทัน จตุพร ลั่นพูดสื่อไม่ได้ต้องไปพูดผ่านเครื่องกระจายเสียง 'ทนายนกเขา' ปลอบ ปชช.เลิกสิ้นหวังกับตนเอง กระตุ้นลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง อย่าจมจ่อมกับแสดงพลังชุมนุม แนะแต่ละคนลงถนนแสดงฉันทามติ เชื่อเป็นพลังใหญ่ได้