สนค. ชี้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างช่วงครึ่งปีแรก ชะลอตัว

สนค. ชี้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2566 มีโอกาสขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์และการลงทุนในประเทศ

3 ก.ค. 2566 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2566 ที่ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2566 สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 (AoA) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์และการลงทุนในภาคการก่อสร้างในประเทศ ประกอบกับต้นทุนยังอยู่ระดับสูง อุปทานพลังงานและเหล็กโลกมีแนวโน้มตึงตัว 

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ครึ่งปีแรกของปี 2566 ชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 (AoA) จากร้อยละ 4.5 (AoA) ในครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากการลดลงของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างมากถึงร้อยละ 29.66 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งปรับลดลงตามราคาพลังงานและวัตถุดิบโลก อาทิ น้ำมันดิบ ยางมะตอย และแร่เหล็ก ตามความต้องการก่อสร้างในประเทศต่าง ๆ ที่ปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2565 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ นอกจากนี้ สินค้าในหมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักต่อดัชนีรวมกันใกล้เคียงกับสินค้าเหล็ก คือร้อยละ 27.90 ชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน ดังนั้น ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของไทย ครึ่งปีแรกของปี 2566 จึงชะลอตัวอย่างชัดเจน  

เมื่อพิจารณาแนวโน้มภาคการก่อสร้างโลก ปี 2566 โดยศูนย์วิจัย GlobalData ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก ได้คาดการณ์ ณ พฤษภาคม 2566 พบว่า ภาคการก่อสร้างโลก ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 (YoY) จากร้อยละ 2.1 (YoY) ในปี 2565 โดยภาคการก่อสร้างในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะหดตัวร้อยละ 1.5 (YoY) เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อระดับราคาและกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุน ได้แก่ ยุโรป รัสเซีย อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ขณะที่ภาคการก่อสร้างในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะขยายตัวร้อยละ 2.4 (YoY) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 (YoY) เนื่องจากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังซบเซา อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมและโครงการก่อสร้างของภาครัฐในหลายประเทศ  อาทิ สหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน รวมทั้งมีมาตรการให้เงินอุดหนุนเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เยอรมนี อินเดีย มีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งทางถนนและรถไฟ ญี่ปุ่น มีการก่อสร้างคลังสินค้าและสถานที่ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และโครงการวิศวกรรมโยธา และจีน มีการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม พลังงานหมุนเวียน และนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่เมืองฉงชิ่ง ทั้งหมดนี้มีส่วนขับเคลื่อนให้ภาคการก่อสร้างของประเทศมีโอกาสเติบโต ประกอบกับอุปทานพลังงานและเหล็กที่มีแนวโน้มตึงตัว ซึ่งอาจทำให้ราคาวัตถุดิบ และราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้

ส่วนภาคการก่อสร้างของไทยยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ภาคการก่อสร้างของไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.6 (YoY) ในไตรมาสก่อนหน้า และปี 2566 คาดว่าภาคการก่อสร้างของไทยจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะสูงขึ้นระหว่างร้อยละ 2.7 – 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับเครื่องชี้วัดภาคการก่อสร้างอื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน 

ทั้งด้านอุปทาน อาทิ การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และด้านอุปสงค์ อาทิ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดของชาวต่างชาติทั่วประเทศ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการก่อสร้างของไทยยังคงเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าปี 2565 อาทิ ค่าขนส่ง ค่าแรง และค่ากระแสไฟฟ้า 

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สนค. จึงคาดว่าภาคการก่อสร้างของไทยมีโอกาส ที่จะขยายตัว และจะส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้าง ไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของภาคการก่อสร้างและกดดันให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวน้อยกว่าที่คาดหรืออาจปรับลดลงได้ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันความต้องการพลังงานและวัสดุก่อสร้าง ส่งผลให้ราคาพลังงาน วัตถุดิบ และราคาจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีความเข้มงวดขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น จะส่งผลให้กำลังซื้อและการลงทุนของภาคประชาชนและธุรกิจลดลง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกันลงทุนไทยเพิ่ม

“พิชัย” ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกัน AMCHAM ลงทุนไทยเพิ่ม เร่งใช้แต้มต่อ FTA ไทย ผลักดัน ศก. ไทยเติบโตรวดเร็ว หลังเตรียมเยือนดาวอส ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกกับยุโรป

พาณิชย์ หารือ สตช. ร่วมมือเร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล

“พาณิชย์” เข้าพบ “บิ๊กต่าย” หารือแนวทาง มาตรการ ข้อกฎหมาย และความร่วมมือ 2 หน่วยงาน เร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล เตรียมร่วมมือทุกรูปแบบ ทั้งประสานข้อมูล ตรวจค้น บังคับใช้กฎหมาย นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อกำจัดอาชญากรทางเศรษฐกิจ ลดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลตีปี๊บเยียวยาเอกชนใน 8 จังหวัดน้ำท่วมภาคใต้

รัฐบาลเดินหน้าเยียวยานิติบุคคลใน 8 จังหวัดอุทกภัยภาคใต้ สั่งออกมาตรการขยายระยะเวลาจดทะเบียนนิติบุคคล แจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การนำส่งงบการเงินได้ หลังสถานการณ์สิ้นสุดลง

พาณิชย์บุกเชียงใหม่จัดธงฟ้า

"พาณิชย์" จัดธงฟ้าฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง ยกทัพสินค้ากว่า 1,000 รายการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้

“นภินทร” ยกทัพ พาณิชย์-สสว.ททท. ขึ้นดอยช้าง ช่วย MSME เร่งสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน ดึงจุดขายจดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่า ผลักดันส่งออก

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ หมู่บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมภาครัฐพบกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย

“นภินทร” ดึงจุดเด่น “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” เนื้อแน่นนุ่ม ไม่คาว วัตถุดิบชั้นดี GI รังสรรค์ใน ”Thai Select“ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมลงพื้นที่เยี่ยมชมถิ่นกำเนิดของสินค้า GI ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าของปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา