กกร. ผวา! ภัยแล้ง รุนแรงเกินคาดประเมินไทยสูญเสีย 5.3 หมื่นล้านบาท 

กกร.ผวาภัยแล้งรุนแรงเกินคาด ประเมินไทยสูญเสีย 5.3 หมื่นล้านบาท ลากยาวถึงครึ่งแรกของปีหน้า ร่ายปัจจัยเสี่ยงรุมรอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารด่วน

2 ก.ค. 2566 – นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีความท้าทายสูง โดยเฉพาะเรื่องรายได้และต้นทุนในการดำรงชีพของประชาชน ที่สะท้อนจากราคาอาหารสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จากความเสี่ยงภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง รวมทั้งอาจเกิดโรคระบาดในปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่แปรปรวน 

“ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงเดือนม.ค.-ก.ค.2566 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนก.ค.2566 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤตใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567”นายผยง กล่าว

โดยกกร. ได้หารือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระ หนองปลาไหล และ ประแสร์ รวมทั้งเสนอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี โดยด่วน และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่อื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนีโญที่ยาวนานและผันผวนมากขึ้น

นอกจากนี้ แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศยังเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้มีโอกาสจะฟื้นตัวตามที่คาดไว้ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำกว่าปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอยมากกว่าประเทศอื่น

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง เนื่องจากกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง การทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐ และการชะลอตัวของการส่งออก ที่ประชุม กกร.จึงมีความเป็นห่วงและต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดยังระบุว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5.59 แสนบาท สูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สูงกว่ารายได้ ซึ่งพบว่าเป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด ที่ประชุมกกร.มองว่าควรมีการผลักดันอย่างจริงจังให้นำข้อมูลหนี้สหกรณ์และการประมาณการหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้ รวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่มาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องรายได้ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโดยองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ

นายผยง กล่าวเพิ่มเติมว่าดังนั้น ที่ประชุม กกร.จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2566 ไว้ที่ 3-3.5% ส่งออกคาดว่าจะติดลบ 2-0% และเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 2.2-2.7%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่ามั่นใจว่าวันที่ 4 ส.ค.นี้ประเทศไทยจะได้ตัวนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่ได้ก็เชื่อว่ายังพอมีเวลาเปิดโหวตอีกหลายครั้ง คาดว่าภายในเดือนส.ค.นี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ก็ต้องรอดูหน้าตาของครม เศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผ่านมายอมรับว่า ครม.เศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งการบริหารงานด้านเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว

ส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรง 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้นมองว่าเป็นนโยบายที่มีช่วงเวลาการปรับขึ้นค่าแรงนานถึง 4 ปี ซึ่งหากจะมีการปรับจริง ภาคเอกชนต้องหารือร่วมกับรัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถยืดหยุ่นได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' คุย กกร. ชื่นมื่น! ปลื้มอวย 'พ่อนายกฯ' แก้เศรษฐกิจเก่งสุด

นายกฯ คุย ‘กกร.’ รับข้อเสนอแก้เศรษฐกิจ จับมือเอกชนหารายได้ใหม่เข้าประเทศ ด้าน ‘สนั่น’ เชื่อมั่นรัฐบาลอิ๊งค์ พร้อมช่วยดันจีดีพีโต ชมเปาะ 'ทักษิณ' เก่งสุด

โฆษกรัฐบาลเผยทุกแบงก์เร่งเชื่อมระบบชำระเงินใน 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

โฆษกรัฐบาล เผยความคืบหน้าดิจิทัลวอลเล็ต 'สมาคมธนาคารไทย' ชี้ทุกธนาคารยินดีให้ความร่วมมือเร่งเชื่อมระบบชำระเงิน Open loop พร้อมย้ำลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ ข้อมูลไม่รั่วไหล ระวัง! อย่าเชื่อข่าวปลอม