ตลาดไมซ์บูมต่างชาติแห่ "จัดประชุมสัมมนา" CPHIโชว์ศักยภาพการผลิตยาไทยสู่ตลาดโลก

Abstract blurred people in seminar or event for background

31 ก.ค. 2566 -อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) หนึ่งในอุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ การจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการ ล้วนเป็นธุรกิจบริการที่มีความสำคัญต่อประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ในแต่ละปีการจัดแสดงสินค้าและการประชุมต่างๆ ระดับโลกสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี ซึ่ง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ให้ข้อมูลว่า ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 61-กันยายน 62 ประเทศไทยมีรายได้จากนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 93,971 ล้านบาท และจากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 107,046 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทีเส็บยังให้ข้อมูลว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2565-มีนาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 อันดับแรกที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านธุรกิจไมซ์ ประกอบด้วย 1) มาเลเซีย 55,818 ราย 2) สิงคโปร์ 36,059 ราย 3) เวียดนาม 30,269 ราย 4) เกาหลีใต้ 18,611 ราย 5) สหรัฐอเมริกา 16,992 ราย 6) อินโดนีเซีย 12,377 ราย 7) ญี่ปุ่น 10,597 ราย 8) อินเดีย 8,897 ราย 9) เยอรมนี 7,896 ราย และ 10) จีน 7,659 ราย

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ซบเซาลง เนื่องจากการจัดงานดังกล่าวต้องงดไปโดยปริยาย และหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลงตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจอย่างจริงจังและคาดหวังผลประกอบการและกำไรที่เป็นบวก
ซึ่ง ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต เป็นธุรกิจที่ชาวต่างชาติสนใจเดินทางเข้ามาจัดงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยมีปัจจัยหลักมาจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ครบครัน มีสนามบินขนาดใหญ่ การคมนาคมที่สะดวกสบาย สถานที่ท่องเที่ยวมีความหลากหลาย และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการท่องเที่ยวไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างเม็ดเงินทั้งจากคนในประเทศและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับผลดีไปด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม/ห้องพัก ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ต่างให้ความสนใจและเพิ่มความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ตมากยิ่งขึ้น โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีความสมบูรณ์ การสร้างสถานที่จัดงานที่มีความพร้อมและสามารถบรรจุผู้เข้าชมงานได้จำนวนมาก พัฒนาอุปกรณ์/เครื่องมือต่างๆ ให้มีความทันสมัย รวมถึงการคมนาคมที่สามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต

“ธุรกิจที่ได้ผลตอบรับและมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน คือ ธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต หรือธุรกิจไมซ์ที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียทยอยเดินทางเข้ามาจัดประชุม ฝึกอบรม จัดงานแสดงสินค้า และจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปี 2565 ที่ธุรกิจมีรายได้รวมกว่า 3.61 หมื่นล้านบาท” ทศพล กล่าว

ทศพล ระบุอีกว่า เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการพบว่า รายได้รวมของธุรกิจ ปี 2563 อยู่ที่ 3.11 หมื่นล้านบาท ขาดทุน 394 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 2.94 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.7 พันล้านบาท หรือ 5.4% ขาดทุน 357.18 ล้านบาท ลดลง 36.82 ล้านบาท หรือ 9.4% และปี 2565 รายได้รวม 3.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.70 พันล้านบาท หรือ 22.8% กำไร 1.28 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.63 พันล้านบาท หรือ 457.53%

จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต พบว่าปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 559 ราย ทุนจดทะเบียน 704.48 ล้านบาท, ปี 2564 จัดตั้ง 454 ราย ลดลง 105 ราย หรือ 18.8% ทุนจดทะเบียน 668.83 ล้านบาท ลดลง 35.65 ล้านบาท หรือ 5.06% ขณะที่ปี 2565 จัดตั้ง 536 ราย เพิ่มขึ้น 82 ราย หรือ 18.07% ทุนจดทะเบียน 814.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145.21 ล้านบาท หรือ 21.72% และปี 2566 เดือนมกราคม-มิถุนายน จัดตั้ง 388 ราย ทุนจดทะเบียน 524.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 จัดตั้ง 245 ราย มีทุนจดทะเบียน 345.04 ล้านบาท

ด้านการลงทุนในธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 3.90 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 97.42% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุดคือ จีน มูลค่า 303 ล้านบาท คิดเป็น 0.76% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มูลค่า 209 ล้านบาท คิดเป็น 0.52% อเมริกา มูลค่า 81 ล้านบาท 0.20% และอื่นๆ มูลค่า 440 ล้านบาท 1.10%

ปัจจุบัน ธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต ที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 6,256 ราย คิดเป็น 0.76% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ 882,055 ราย และมีมูลค่าทุน 40,004.89 ล้านบาท คิดเป็น 0.19% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย 21.41 ล้านล้านบาท

ทศพล กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเก่าจำเป็นต้องคำนึงถึง คือ ความพร้อมของธุรกิจและบุคลากรเป็นหลัก การจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพื่อความเป็นมืออาชีพในการจัดงาน การเลือกสถานที่จัดงานที่โดนใจลูกค้า พร้อมเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

“ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และมีจุดแข็งเหนือคู่แข่ง ที่สำคัญเมื่อการจัดงานสำเร็จเสร็จสิ้นลง ผลงานที่ออกมาโดนใจและบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ลูกค้ากำหนด จะส่งผลให้เกิดการใช้บริการซ้ำและเป็นลูกค้าประจำ และหากจะมีการจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต ก็จะคิดถึงไทยเป็นประเทศแรกที่จะเลือกในการจัดงานครั้งต่อไป” ทศพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีสต์ เอเชีย 2023 (CPHI South East Asia 2023)” งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเภสัชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าธุรกิจไมซ์ของไทยได้รับคงวามสนใจจากนานาชาติ

ซึ่ง รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงานดังกล่าว ระบุว่า งาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีสต์ เอเชีย 2023″ ประสบความสำเร็จอย่างมาก การันตีด้วยสถิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของผู้ประกอบการ ผู้ผลิตยา และซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยาจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 390 บริษัทจนเต็มพื้นที่การจัดงานกว่า 15,000 ตารางเมตร ณ ฮอลล์ 1-3 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และปีนี้สามารถดึงผู้เข้าร่วมงานได้สูงสุด มีคนเข้าเยี่ยมชมงานกว่า 8,258 คน ซึ่งเป็นคนที่สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยา มีทั้งที่เป็นนักศึกษา นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยอีกครั้ง

รุ้งเพชร กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่มีการผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแทนอินโดนีเซียได้สำเร็จ จนถึงการขยายการจัดงานในครั้งนี้ซึ่งเป็นปีที่ 3 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมถึงสองเท่า ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมงาน เช่น สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สมาคมเภสัชอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, FDA จากฟิลิปปินส์และมาเลเซีย

รวมทั้ง สมาคมการค้า ผู้ผลิตยาจากฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลี และจีน ฯลฯ ที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้ CPHI South East Asia 2023 ขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมยาไทยให้เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตยารายสำคัญของโลกในอนาคต ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสและอนาคตอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยให้แข็งแกร่งและมั่นคง

ทั้งนี้ อินฟอร์มา ในฐานะเป็นบริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้า มีภารกิจในการจัดแสดงสินค้าที่ตรงกับประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดไมซ์ หรือส่งเสริมให้นักธุรกิจที่เดินทางผ่านเข้ามาในประเทศไทยและมีการจัดงานแสดงสินค้าในไทย ซึ่งตัวเลขจากทีเส็บระบุว่า คนที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้านั้น 1 คนจะใช้จ่ายประมาณ 78,500 บาท ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นตัวชี้ว่าการจัดงานแสดงสินค้าไม่ใช่เฉพาะธุุรกิจอุตสาหกรรมที่เราเลือก แต่จะส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและเพิ่มมูลค่าของธุรกิจต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน ธุรกิจอาหาร และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เพราะผู้ประกอบการที่เดินทางมายังประเทศไทยจะต้องออกไปท่องเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอย

รุ้งเพชร กล่าวว่า หลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อกลางปี 2565 ยังติดบางประเทศที่ยังเดินทางมาไม่ได้ เช่น จีน แต่ในปี 2566 การกลับมานั้นเกือบจะเท่ากับช่วงก่อนโควิด ซึ่งหลายๆ งานของบริษัทที่จัดไปตั้งแต่ต้นปีมีผู้มาร่วมงานเกือบจะเท่าปี 2562 บางงานจำนวนผู้ร่วมงานขึ้นไปเท่าแล้ว ซึ่งในครึ่้งปีหลังจะจัดอีก 8-9 งาน อาทิ งานเครื่องสำอาง พลังงาน ธุรกิจอาหาร

“ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจไมซ์และผลักดันอยู่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวที่มากับธุรกิจไมซ์นั้นมีการจับจ่ายใช้สอย แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการอยากได้คือความมีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะเป็นตัวที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ถ้าไม่มีความชัดเจน นักลงทุนก็จะชะลอการจัดแสดงสินค้า และจะกระทบทั่วไปอยู่แล้ว ก็อยากให้รัฐบาลตั้งกันไวๆ จะได้มีเสถียรภาพและผลักดันเศรษฐกิจ ประชาชนจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข” รุ้งเพชร กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พิพัฒน์' ยกระดับทักษะแรงงานท่องเที่ยวมูลค่าสูง หนุนไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมไมซ์

วันที่ 5 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์สู่การรองรับการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ระดับนานาชาติ