เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันดัชนี MPI ครึ่งปีแรก ปี 66 หดตัว 4.60%

สศอ.เผยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันดัชนี MPI 6 เดือนแรก ปี 66 หดตัว 4.60% งวดมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 95.73 ชี้ยอดผลิตมอ’ไซค์ช่วยหนุน ขยายตัวต่อเนื่องหลังความต้องการทั้งในและต่างประเทศกำลังโต

28 ก.ค. 2566 – นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 6 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลง 4.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 60.72% ขณะที่เดือนมิ.ย. ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลง 5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.12% ด้าน MPI ไตรมาส 2 ปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.14 ลดลง 5.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงรายได้เกษตรกรในเดือนมิ.ย. 2566 ลดลง 5.99% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงเปราะบาง

ทั้งนี้การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สุรา กาแฟ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.23% จากการผลิตรถยนต์นั่งเป็นหลัก รวมทั้งตลาดส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.76% เนื่องจากปีนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.88% เป็นผลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.61% เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจักรยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.96% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

“สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ คือ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทย เป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2,974 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก คือ เบลเยี่ยม จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)มีการคาดการณ์ ในปี 66 ว่าจะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,100,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,750,000 คัน และผลิตเพื่อการส่งออก 350,000 คัน” นางวรวรรณ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สศอ. โต้โรงงานผลิตรถยนต์ ICE ปิดตัวลง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลส่งเสริมรถ EV

สศอ. ย้ำ! รัฐบาลผลักดันอุตสาหกรรม EV ส่งเสริมการลงทุน และออกมาตรการต่อเนื่อง หนุนพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ยันไม่ปิดกั้น พร้อมเปิดกว้างรับผู้ผลิตรถยนต์ทุกสัญชาติ