บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานทิศทางรายได้การให้บริการดีต่อเนื่อง ส่งสัญญาณเชิงบวกจากแรงหนุนรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นและยอดผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น พร้อมความสำเร็จจากการผสานพลังที่เห็นผลอย่างรวดเร็วจากการควบรวมและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ EBITDA เพิ่มขึ้น 14.7% จากไตรมาสก่อน
28 ก.ค. 2566 – นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีทิศทางผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการ และการผสานความแข็งแกร่งในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดของดีแทคและทรู โดยหลังจากควบรวมกันมา 4 เดือน เรายินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าการดำเนินการตามแผนการควบรวมยังเป็นไปตามแผนงาน พร้อมทั้งเราได้เริ่มทยอยรับรู้ผลประโยชน์แบบรวดเร็วจากการควบรวม
ทรู คอร์ปอเรชั่นได้เสร็จสิ้นกระบวนการคัดเลือกพันธมิตรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และประสบความสำเร็จในการแต่งตั้งผู้ดำเนินการแผนรวมโครงข่าย (RFP) นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์ในการประหยัดต่อขนาดที่มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการลงทุนและประหยัดได้ประมาณ 3 พันล้านบาทภายหลังจากการควบรวมกิจการ ลูกค้าของแบรนด์ดีแทค และทรูได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (cross-selling) ในแต่ละเดือน โดยการให้บริการครอบคลุมระบบนิเวศของโซลูชั่นทำให้ลูกค้าภักดีอยู่กับแบรนด์เพิ่มขึ้น (Customer Loyalty) เพิ่มโอกาสในการรับรู้รายได้
ทั้งนี้ ข้อมูลไตรมาสที่ 2/2566 มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 29 ล้านรายได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของคลื่นความถี่ เครือข่ายที่กว้างขึ้น และได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ทั้งนี้ จากการพัฒนาเครือข่ายดังกล่าว ผู้ใช้แบรนด์ดีแทคได้ใช้บริการ 5G เร็วขึ้น 2.3 เท่า และมีการใช้งาน 5G สูงขึ้น 12%
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ดีแทคและทรูเป็นแบรนด์ผู้ให้บริการมือถือที่แข็งแกร่ง โดยยังคงเป็นผู้นำในการให้บริการซิมสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งออกแบบการให้บริการโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการนำเสนอคอนเทนท์ ความบันเทิง และการใช้งานโซเชียลมีเดีย พร้อมกับข้อเสนอต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ยอดการทำธุรกรรมภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้น 17% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแนวคิดชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together) ส่งผลให้การรักษาลูกค้ากลุ่มที่ใช้บริการแพ็คเกจที่มีอัตราค่าบริการในระดับสูง (high-tier) เพิ่มขึ้น 9% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยไตรมาส 2/2566 ทรู คอร์ปอเรชั่นมีฐานผู้ใช้งานดิจิทัลสูงถึงประมาณ 14 ล้านราย”
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 659,000 หมายเลข ทำให้มียอดลูกค้ามือถือจำนวนรวมทั้งสิ้น 51.1 ล้านหมายเลข โดยเพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสที่ผ่านมา ผู้ใช้งาน 5G มีจำนวนถึง 8.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32% จากไตรมาสที่ 1/2566 โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านการใช้งานและการเพิ่มขึ้นของ ARPU 10-15% โดยสาเหตุหลักมาจากการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารพร้อมบริการ โดยสิ้นไตรมาส 2/2566 การให้บริการ 4G ครอบคลุม 99% ของประชากร และ 5G ครอบคลุม 90% ของประชากร ตามลำดับ
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากแนวโน้มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวที่เริ่มกลับมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังคงทรงตัวในไตรมาสที่ 2 โดยมีการลดลงของการให้ส่วนลดและการเพิ่มคุณค่าสินค้าและการบริการให้แก่ลูกค้าที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้า ทรู คอร์ปอเรชั่นจะยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ โดยการผสานความแข็งแกร่งในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด การดำเนินการตามแผนการควบรวม และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับไตรมาส 2/2566 มีทิศทางดีขึ้นโดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น พร้อมประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยส่งผลดีต่อการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าระบบเติมเงินของเรา ตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวมากที่สุดในประเทศ นอกจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงแล้ว ทรู คอร์ปอเรชั่นยังคงมุ่งเน้นที่การเติบโตอย่างมีกำไร ซึ่งนำไปสู่ EBITDA ที่สูงขึ้นและอัตรากำไรที่ดีในไตรมาสนี้
การเติบโตของรายได้จากการให้บริการธุรกิจมือถือและบรอดแบนด์ส่งผลให้มีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการรวมเพิ่มขึ้น 1.1% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) โดยรายได้จากบริการมือถือเพิ่มขึ้น 0.8% (QoQ) จากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของ ARPU รายได้จากบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 3.2% (QoQ) โดยได้แรงหนุนจาก ARPU ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของการแข่งขันในตลาด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพของการได้มาซึ่งผู้ใช้งานใหม่ และการเพิ่มโอกาสจากการขายพ่วงหลังจากการรวมธุรกิจ รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ลดลง 28.5% (QoQ) เนื่องจากยอดขายที่ลดลงตามฤดูกาล ส่งผลให้รายได้รวมลดลง 4.6% (QoQ)
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ทั้งหมด ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 16.7% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) จากมาตรการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในระยะสั้น ในส่วน EBITDA สำหรับไตรมาสนี้ดีขึ้น 14.7% โดยเป็นผลจากรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และผลกระทบเชิงบวกสุทธิจากการกลับรายการตั้งสำรองเนื่องมาจากการยุติข้อพิพาทในไตรมาส 1/2566
รายงานผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีจำนวน 2,320 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time effect) จากการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีของผลขาดทุนยกมาของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN เนื่องจากความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้กลุ่มบริษัท และค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม (Integration cost) จำนวนประมาณ 250 ล้านบาท โดยขาดทุนสุทธิยังได้รับผลกระทบจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการขยายโครงข่าย CAPEX สำหรับไตรมาส 2/2566 จำนวน 3,435 ล้านบาท ได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการควบรวม
สำหรับการคาดการณ์ในปี 2566 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ปรับปรุงแนวโน้มสำหรับปี 2566 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 10 เดือนของการดำเนินงานนับจากวันที่ควบรวมกิจการเสร็จสิ้น โดยคาดว่า EBITDA จะมีการเติบโตที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ-ปานกลาง (low-to-mid single digit) ในขณะที่ยังคงแนวโน้มที่ทรงตัวสำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ทั้งนี้ เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท ตามที่เคยประกาศไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทรู ดึง AI เร่งภารกิจปกป้องภัยไซเบอร์
ทรู คอร์ปอเรชั่น เร่งภารกิจปกป้องภัยไซเบอร์ มุ่งรับผิดชอบสังคมดิจิทัล ทุ่มเต็มที่ ดึงเทคโนโลยี AI ระดับสูง ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์แบบจัดเต็ม
บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 3/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 41,774 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโตกว่า 14.2%
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 3/67 เท่ากับ 41,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 603 ล้านบาทจากปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,825 ล้านบาท
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 637 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 เผชิญความท้าทายรอบด้าน
บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 2/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 43,085 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตกว่า 15%
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 2/67 เท่ากับ 43,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาทจากปีก่อน