ไทยเนื้อหอม!! ต่างชาติแห่เดินทางเข้าจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และจัดแสดงคอนเสิร์ตในประเทศ
ดันธุรกิจ MICE เติบโตต่อเนื่อง …ปี ‘65 รายได้รวมทะลุ 3.6 หมื่นล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 457%
27 ก.ค. 2566 – 2565-2566 เป็นปีทองของธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ตของไทย (MICE) หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ชาวต่างชาติโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแห่เดินทางเข้าจัดประชุม ฝึกอบรม จัดงานแสดงสินค้า และจัดแสดงคอนเสิร์ตในไทยไม่ขาดสาย ปัจจัยหนุนมาจากโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย สะดวกสบาย และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ส่งผลให้ปี ‘65 ธุรกิจ MICE มีรายได้รวมกว่า 3.61 หมื่นล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 457% (1.28 พันล้านบาท) ปี ‘66 ธุรกิจ MICE ยังคงได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง คาด!! รายได้รวมทะลุ 5 หมื่นล้านบาท
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลงตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจอย่างจริงจังและคาดหวังผลประกอบการ/ผลกำไรที่เป็นบวก โดยธุรกิจที่ได้ผลตอบรับและมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน คือ ธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต หรือ ธุรกิจ MICE ที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียทยอยเดินทางเข้ามาจัดประชุม ฝึกอบรม จัดงานแสดงสินค้า และจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้ปี 2565 ของธุรกิจฯ ที่มีรายได้รวมกว่า 3.61 หมื่นล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการ พบว่ารายได้รวมของธุรกิจ ปี 2563 อยู่ที่ 3.11 หมื่นล้านบาท ขาดทุน 394 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 2.94 หมื่นล้านบาท (ลดลง 1.7 พันล้านบาท หรือ ร้อยละ 5.4) ขาดทุน 357.18 ล้านบาท (ลดลง 36.82 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 9.4) และ ปี 2565 รายได้รวม 3.61 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.70 พันล้านบาท หรือ ร้อยละ 22.8) กำไร 1.28 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.63 พันล้านบาท หรือ ร้อยละ 457.53)
และจากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 559 ราย ทุนจดทะเบียน 704.48 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 454 ราย (ลดลง 105 ราย หรือ ร้อยละ 18.8) ทุน 668.83 ล้านบาท (ลดลง 35.65 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 5.06) ปี 2565 จัดตั้ง 536 ราย (เพิ่มขึ้น 82 ราย หรือ ร้อยละ 18.07) ทุน 814.04 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 145.21 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 21.72) และ ปี 2566 เดือนมกราคม – มิถุนายน จัดตั้ง 388 ราย ทุน 524.88 ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย.65 จัดตั้ง 245 ราย ทุน 345.04 ล้านบาท)
การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 3.90 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.42 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 303 ล้านบาท (ร้อยละ 0.76) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 209 ล้านบาท (ร้อยละ 0.52) อเมริกา มูลค่า 81 ล้านบาท (ร้อยละ 0.20) และอื่นๆ มูลค่า 440 ล้านบาท (ร้อยละ 1.10)
ปัจจุบัน ธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต ที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 6,256 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.76 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (882,055 ราย) และมีมูลค่าทุน 40,004.89 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.19 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย (21.41 ล้านล้านบาท)
ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 5,576 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.13 มูลค่าทุน 38,270.57 ล้านบาท และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท) มากที่สุด จำนวน 4,796 ราย ราย คิดเป็นร้อยละ 76.66 สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,408 ราย (ร้อยละ 54.48) ทุนจดทะเบียนรวม 19,031.06 ล้านบาท (ร้อยละ 47.57) รองลงมา คือ ภาคกลาง 1,475 ราย (ร้อยละ 23.58) ภาคตะวันออก 337 ราย (ร้อยละ 5.39) ภาคใต้ 331 ราย (ร้อยละ 5.29) ภาคเหนือ 321 ราย (ร้อยละ 5.13) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 299 ราย (ร้อยละ 4.78) และภาคตะวันตก 85 ราย (ร้อยละ 1.35)
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 อันดับแรกที่เดินทางเข้าประเทศไทย ผ่านธุรกิจ MICE ประกอบด้วย 1) มาเลเซีย 55,818 ราย 2) สิงคโปร์ 36,059 ราย 3) เวียดนาม 30,269 ราย 4) เกาหลีใต้ 18,611 ราย 5) สหรัฐอเมริกา 16,992 ราย 6) อินโดนีเซีย 12,377 ราย 7) ญี่ปุ่น 10,597 ราย 8) อินเดีย 8,897 ราย 9) เยอรมนี 7,896 ราย และ 10) จีน 7,659 ราย
ธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต เป็นธุรกิจที่ชาวต่างชาติสนใจเดินทางเข้ามาจัดงานฯ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เหตุมาจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ครบครัน มีสนามบินขนาดใหญ่ การคมนาคมที่สะดวกสบาย สถานที่ท่องเที่ยวมีความหลากหลาย และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการท่องเที่ยวไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างเม็ดเงินทั้งจากคนในประเทศและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับผลดีไปด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม/ห้องพัก ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ต่างให้ความสนใจและเพิ่มความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ตมากยิ่งขึ้น โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีความสมบูรณ์ การสร้างสถานที่จัดงานที่มีความพร้อมและสามารถบรรจุผู้เข้าชมงานได้จำนวนมาก พัฒนาอุปกรณ์/เครื่องมือต่างๆ ให้มีความทันสมัย รวมถึง การคมนาคมที่สามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต
ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจและผู้ประกอบการรายเดิมที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วจำเป็นต้องคำนึงถึงความพร้อมของธุรกิจและบุคลากรเป็นหลัก การจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพื่อความเป็นมืออาชีพในการจัดงาน การเลือกสถานที่จัดงานที่โดนใจลูกค้า พร้อมเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ฯลฯ ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และมีจุดแข็งเหนือคู่แข่ง ที่สำคัญเมื่อการจัดงานสำเร็จเสร็จสิ้นลง ผลงานที่ออกมาโดนใจและบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ลูกค้ากำหนด จะส่งผลให้เกิดการใช้บริการซ้ำและเป็นลูกค้าประจำ และหากจะมีการจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต ก็จะคิดถึงไทยเป็นประเทศแรกที่จะเลือกในการจัดงานครั้งต่อไป” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ใช้เบอร์ 02 ลวงเหยื่อกว่าหมื่นเลขหมาย
พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” จัดกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 ส่วนภูมิภาค
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 โดยยกขบวน แฟรนไชส์ชั้นนำกว่า 40 แบรนด์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม บริการ และค้าปลีก มาให้ผู้สนใจได้เลือกสรรตามความสนใจและความถนัด เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ขยายธุรกิจ และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าจัดงานแฟรนไชส์ สร้างอาชีพ Roadshow 2024 ครั้งที่ 2 ณ เซ็นทรัลอุดรธานี พร้อมเยียวยาผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมให้กลับมายิ้มรับวันใหม่ที่สดใสอีกครั้ง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าจัดกิจกรรมแฟรนไชส์ Roadshow 2024 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 ศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม 2567
พาณิชย์ชวนร้านค้ารับเครื่องหมาย DBD Registered
“นภินทร” ชวน ร้านค้าออนไลน์ รับเครื่องหมาย DBD Registered / DBD Verified สร้างความเชื่อมั่นผู้ซื้อ ป้องกันการถูกหลอกลวง
'กรมพัฒนาธุรกิจการค้า' จัดกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 ส่วนภูมิภาค จังหวัดอุดรธานี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 โดยยกขบวน แฟรนไชส์ชั้นนำกว่า 40 แบรนด์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม บริการ และค้าปลีก มาให้ผู้สนใจได้เลือกสรรตามความสนใจและความถนัด