รฟท. ลุยสร้างทางคู่ทั่วประเทศตั้งเป้า 3 พันกิโลเมตร

รฟท. กางแผนสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ จ่อเปิดให้บริการ “นครปฐม–สะพลี” ก.ย.นี้ ครบทั้งเส้นภายใน ธ.ค. 66 หนุนทางคู่รวมกันมากกว่า 3,000 กม. ในปี 72 ดันลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์

21 ก.ค. 2566 – นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ได้ให้ความสำคัญในการกำกับ ติดตามดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่กำหนด
สำหรับรถไฟทางคู่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย และ 2. โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และใกล้แล้วเสร็จ 3 โครงการ ซึ่งอยู่ในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.39 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล ผลงาน97.183% ส่วนสัญญาที่ 2 หนองปลาไหล-หัวหิน ผลงาน 97.535%, 2. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ผลงาน 99.999% และ 3. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ทั้งนี้ในภาพรวมของทั้ง 3 โครงการ ในส่วนของงานโยธาได้ดำเนินการใกล้เสร็จครบทั้งหมด และเริ่มมีการทดลองเปิดใช้ทางคู่ใหม่บางช่วง เพื่อทดสอบระบบทางแล้ว โดย รฟท.มีแผนเปิดใช้งานจริงช่วงเดือน ก.ย.66 เริ่มจากสถานีนครปฐม ถึงสถานีสะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร จากนั้นปลายเดือน ธ.ค.66 จะขยายไปจนถึงปลายทางที่สถานีชุมพร และตั้งเป้าหมายจะเปิดใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 68

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและ2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 เพิ่มเติมอีก 7 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย 2.ช่วงขอนแก่น – หนองคาย 3.ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี 4.ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี 5.ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา 6.ช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์และ7.ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่

ทั้งนี้หากรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ รฟท. มีรถไฟทางคู่ครอบคลุมการเดินทางได้มากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ มีเส้นทางคู่รวมกันมากกว่า 3,000 กม. ภายในปี 72 สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า2 เท่าตัว โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ได้มหาศาล อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ

บอร์ด รฟท. ไฟเขียวรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 3 เส้นทาง 1.33 แสนล้าน

บอร์ด รฟท. ไฟเขียวรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 3 เส้นทาง 634 กม. 1.33 แสนล้าน ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์‘ ชงคมนาคม ก.พ.นี้ ก่อนเสนอครม. ต่อไปเคาะ ยันรายงานอีไอเอผ่านฉลุย

'สุริยะ' ตั้งธงศึกษา 'สถานีขนส่งบขส.' ใหม่เสนอครม.ภายในปี67

“สุริยะ” สั่ง รฟท.ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่พหลโยธินใหม่ แนะเกลี่ยพื้นที่ให้ บขส.สร้างรวมสถานีขนส่งผู้โดยสาร”เหนือ-อีสาน-ใต้”แห่งใหม่ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คาดศึกษา

รฟท.เพิ่มขบวนรถพิเศษ 12 ขบวนสาย ’เหนือ-อีสาน‘ รับคนเดินทางช่วงปีใหม่

รฟท. แจ้งเพิ่มขบวนรถพิเศษ 12 ขบวน สายเหนือ-อีสาน รองรับคนเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ เน้นความปลอดภัย ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง เปิดจองตั๋ว 28 พ.ย.นี้ พร้อมตั้งศูนย์ปลอดภัยฯ รองรับการเดินทางของประชาชน