14 ก.ค. 2566 – นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในกรณีที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไป ซึ่งคลังคาดว่า เต็มที่ไม่เกิน 6 เดือน หรือ มี.ค.2567 จะกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ประมาณ 0.05% โดยคาดว่าช่วงที่เหลือของปี 2566 การเบิกจ่ายงบประมาณจะยังเป็นไปตามที่วางไว้ ซึ่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเบิกจ่ายให้เป็นไปตามตามแผน ส่วนที่งบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า จะต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่า มีงบประมาณส่วนใดบ้างจากงบประมาณปี 2566 มาใช้ไปพลางก่อน ซึ่งต้องเสนสอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
ทั้งนี้ เบื้องต้นในระหว่างที่รอรัฐบาลใหม่มาจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กระทรวงการคลังได้เตรียม 3 แนวทาง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยคาดว่าหากทำได้ ก็จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวได้ประมาณ 0.03-0.04% ประกอบด้วย 1.นำงบประมาณประจำในส่วนที่สามารถเบิกจ่ายก่อนได้ จากเดิมที่จะมีการเร่งเบิกจ่ายปลายปี ให้นำมาใช้ก่อน (ฟร้อนท์โหลด) ในช่วงต้นปีงบประมาณทันที เช่น งบอบรม สัมมนา ซึ่งมีอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านบาท
2.งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ จะต้องไปดูว่ามีเท่าใดที่จะเร่งเบิกจ่ายได้ ซึ่งรัฐวิสาหากิจมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้รายได้ของตัวเอง กับ กลุ่มที่ต้องใช้งบประมาณ และเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรอบการเบิกจ่ายตามปีงบประมาณ และ ปีปฏิทิน โดยในส่วนของปีปฏิทิน ให้ให้เร่งเบิกจ่ายปลายปี 2566 และ ต้นปี 2567 เช่น งบเวนคืน งบซื้อที่ดินต่าง ๆ ให้เร่งเบิกจ่ายขึ้นมา ซึ่งส่วนนี้มีอยู่ราว 5 แสนล้านบาท และ 3.ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปดูว่ามีโครงการของรัฐใดบ้าง ที่จะนำมาใช้ เช่น สินเชื่อผ่อนปรน ยังมีเงินเหลือ 7 หมื่นกว่าล้านบาท รวมทั้ง 3 แนวทาง เป็นเงินที่คาดว่าจะเบิกได้กว่า 6.2-6.3 แสนล้านบาท
“งบประมาณ 2567 ที่คาดว่าล่าช้าไปอย่างมากที่สุดก็ 6 เดือน และที่กระทบคือในส่วนของงบลงทุน 6 แสนกว่าล้านบาท ที่ปกติไม่ได้มาลงช่วง 2 ไตรมาสแรกอยู่แล้ว และจะไปกระจุกอยู่ช่วง 2 ไตรมาสสุดท้าย คงไม่ได้กระทบเศรษฐกิจในภาพรวมอะไรมาก ก็ต้องไปดูเพิ่มว่ามีงบตัวไหนสามารถมาลงช่วง 2 ไตรมาสแรกได้ ต้องหางบอื่นมาชดเชย เพื่อพยุงเศรษฐกิจ” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าออกไป จะไม่กระทบกับมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลประชาชน เช่น การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีการจัดสรรเงินเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมในปี 2566 ครบถ้วนแล้ว ส่วนของปี 2567 จะต้องหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อนได้ ส่วนมาตรการใหม่อื่น ๆ หากจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ไม่มีงบประมาณ 2567 ก็ต้องเน้นในเรื่องของการกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีแนวทางที่สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ก.ค.2566 จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 รอบใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่เปลี่ยนไป เช่น ค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา เป็นต้น จากเดิมที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% การส่งออก -0.5% และคาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 29 ล้านคน ขณะที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 8 เดือน จัดเก็บได้ 1.98 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.51 แสนล้านบาท ส่วนฐานะการคลัง เบิกจ่ายได้ 2.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.05 แสนล้านบาท มีเงินคงคลังเหลือ 2.26 แสนล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มวันแรก! เปิดลงทะเบียน 'คุณสู้ เราช่วย' ปลดหนี้ 3 แสนล้าน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)