รถไฟทางคู่สายใต้ ‘นครปฐม-ชุมพร’ คืบ 96% ส.ค.นี้ เปิดใช้ช่วง ‘บางสะพานน้อย-ชุมพร’

‘กรมราง’ตรวจงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้
‘นครปฐม-ชุมพร’ 5 สัญญาคืบ 96.92% ส.ค. นี้ เปิดใช้ทางคู่ช่วง’บางสะพานน้อย-ชุมพร’เพิ่ม แนะ รฟท.ก่อสร้างทางลอดข้ามหรือสะพานข้ามระหว่างชานชาลาสองฝั่งเพื่อความปลอดภัย

14 ก.ค.2566-นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ที่สถานีคลองวังช้าง สถานีปะทิว สถานีสะพลี และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) สะพลี สถานีชุมพร รวมถึงโรงรถจักรชุมพร ทั้งนี้ช่วงดังกล่าวมีระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) 20 สถานี โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กม. ซึ่งโครงการนี้มีงานโยธา 5 สัญญา ภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้า 96.92% ปัจจุบันได้เปิดใช้ทางคู่ ช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 78 กม.แล้ว

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างพิจารณาทยอยเปิดใช้งานเป็นช่วงๆ เริ่มจากสถานีบางเค็ม ถึงสถานีหนองศาลา ระยะทาง 48 กม. ช่วงที่หยุดรถบ้านดอนทราย ถึงที่หยุดรถหนองมงคล ระยะทาง 23.77 กม. ในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2566 และจะทยอยเปิดเพิ่มเติมภายในเดือน ก.ย. 2566 โดยใช้ระบบเครื่องทางสะดวก และมอบตั๋วทางสะดวก (กรฟ.3) ตามเดิมไปพลางก่อนในระหว่างที่รอติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตามสัญญาที่ 6 ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปประมาณ 50%

“จากการลงพื้นที่พบว่า ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร งานก่อสร้างวางรางรถไฟ (track work) ครบ 100% แล้ว คงเหลืองานสถานี และงานเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยยังพบปัญหาการเดินข้ามระหว่างอาคารสถานีกับชานชาลาอีกฝั่ง ที่ผู้โดยสารต้องเดินไปสุดปลายชานชาลาทั้งสองข้างแล้วลงไปในทางรถไฟเสมอระดับดิน เพื่อเดินข้ามไปยังชานชาลาฝั่งตรงข้าม ทั้งนี้ ขร. ได้แนะนำให้ รฟท. พิจารณาก่อสร้างทางลอดข้ามใต้ทางรถไฟระหว่างชานชาลา หรือสะพานข้าม เพื่อความปลอดภัยด้วยแล้ว”นายพิเชฐ กล่าว

สำหรับลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทเนอร์ (CY) สะพลี ได้ก่อสร้างลานคอนกรีตเสริมเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีเอกชนที่สนใจเริ่มมาใช้บริการขนส่งตู้คอนเทเนอร์บรรทุกยางพารา และเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการขนส่งสินค้าทุเรียนผ่านทางรถไฟ เพื่อขนส่งผ่าน สปป.ลาว ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยแล้วเช่นกัน

ส่วนโรงรถจักรชุมพร ปัจจุบันรับผิดชอบงานซ่อมบำรุงรถจักร รถโดยสาร และสามารถรองรับการซ่อมบำรุงแคร่รถสินค้า (บทต.) และรับผิดชอบจัดพนักงานขับรถไฟและช่างเครื่องทำขบวนช่วงหัวหิน-ชุมทางทุ่งสง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงซ่อมและล้างรถ พร้อมติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2566 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงรถจักร และล้อเลื่อนรองรับรถไฟทางคู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า รฟท. มีแผนเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ภายในปลายปี 2566 โดยจะทยอยเปิดให้บริการ เริ่มจากสถานีบางสะพานน้อย-สถานีคลองวังช้าง ระยะทาง 47.1 กม. ในเดือน ส.ค. 2566 จากนั้นเดือน ก.ย. 2566 เปิดบริการ สถานีปะทิว-สถานีบ้านคอกม้า อีก 14.7 กม. และเดือน ต.ค. 2566 เปิดบริการ สถานีสะพลี-สถานีนาชะอัง ระยะทาง 15.4 กม. และเดือน ธ.ค. 2566 เปิดบริการสถานีชุมพร 1.8 กม.

ทั้งนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ของ รฟท. กับที่ปรึกษาควบคุมงาน ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญา และผู้รับจ้างก่อสร้างงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมในรายละเอียด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเมื่อมีการเดินรถไฟแบบทางคู่แล้ว จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟให้ตรงเวลา และปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟของประเทศต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเดย์ 28 ก.ค.นี้ เปิดเดินรถไฟผ่านอุโมงค์ผาเสด็จ อุโมงค์ที่ยาวสุดในไทย

พร้อมแล้ว 28 ก.ค. นี้ เปิดใช้รถไฟทางคู่ สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร และช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร วิ่งลอดผ่านอุโมงค์ผาเสด็จ และอุโมงค์หินลับอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศ มั่นใจสะดวก และปลอดภัย

'ธนกร' รายวัน เผย 'นายกฯ-สุริยะ' รับเรื่องเร่งแก้จราจรมุ่งสู่ภาคใต้แล้ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีสส.ภาคใต้จากทุกพรรคการเมือง

'สุรพงษ์' สแกนทางคู่สายใต้ 'นครปฐม-ชุมพร' คืบหน้า 99% เปิดใช้บางช่วง 15 ธ.ค.นี้

“สุรพงษ์”ลงพื้นที่เช็กคืบหน้าสร้างรถไฟทางคู่สายใต้เสร็จเกือบ 100% ปักหมุด15 ธ.ค.นี้ เปิดเดินรถช่วงสถานี"บ้านคูบัว-สถานีสะพลี" พร้อมเปิดเพิ่มช่วงนครปฐม-บ้านคูบัว และ ช่วงสะพลี-ชุมพร เม.ย.67 และเปิดตลอดสายกลางปี 67เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการขนส่งและยกระดับศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน