“คมนาคมจับมือฝรั่งเศส” ลงนามปฏิญญาความร่วมมือพัฒนางานด้านคมนาคมขนส่งเชื่อม บก-น้ำ-ราง-อากาศ ครอบคลุมทุกมิติ ดันไทยสู่ฮับการคมนาคมขนส่งในอาเซียน
8 ธ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและนายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีลงนามปฏิญญาแสดงเจตจำนงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในนามของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา กำกับดูแลการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง ว่าจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสที่มีมาอย่างยาวนาน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเช่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยินดีให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ประเทศไทยและฝรั่งเศสได้ร่วมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างไทยและฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน โดยการแลกเปลี่ยนนโยบายและประสบการณ์ด้านการขนส่งทางราง เมื่ออนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหมดอายุลง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2559 ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบให้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งฉบับใหม่ คือ ปฏิญญาแสดงเจตจำนงฯ ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง
อย่างไรก็ตามโดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งระบบราง การขนส่ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งมุ่งหวังที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันเกี่ยวกับ การพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืน อาทิ การขนส่งทางราง การขนส่งมวลชนในเมือง การขนส่งด้วยเทคโนโลยีสะอาด การขนส่งหลายรูปแบบและโลจิสติกส์ การขนส่งทางทะเล ทางหลวง และความปลอดภัยทางถนน รวมถึงมุ่งมั่นกระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งในส่วนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่มีต่อนโยบายการขนส่ง การบูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การดำเนินการความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับภารกิจหลักของ กระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านการขนส่งที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงาน คือ “พัฒนาระบบขนส่งอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” รวมถึงดำเนินโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมทุกรูปแบบของการขนส่ง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายของพลอเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีได้วางแผนไว้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะรองรับการลงทุนจากนานาชาติรวมถึงประเทศฝรั่งเศสด้วย ซึ่งจะสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลักดันให้ประเทสไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะเกิดความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งอำนวยความสะดวกในด้านการค้าการลงทุนเกิดการเชื่อมโยงตามแนวพื้นที่สำคัญทั้งระดับประเทศและภูมิภาค เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ,โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่3 ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สำคัญที่มีเป้าหมายที่จะดำเนินการในอนาคต เช่นการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ระยะเวลา 15 ปี, แผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่ง14 เส้นทาง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะรวมถึงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้เป็น สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ประเทศไทยมีแผนพัฒนาระบบสาธารณะเมืองหลักในภูมิภาค โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงระหว่างเมืองระบบราง(MR-MAP)การพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์),การพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและมลพิษโดยการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดยนายกรัฐมนตรีพยายามขับเคลื่อนการการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้สามารถแปรไปสู่การปฏิบัติติได้จริง
ทั้งนี้ เชื่อว่าการลงนามในปฏิญญาแสดงเจตจำนงฯ ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของ ทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายในสาขาคมนาคมขนส่งอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป