“ศุลกากร” ตั้งโต๊ะแถลงขอโทษหลังเกิดดราม่าประมูลนาฬิกาเก๊ ระบุได้รับการยืนยันมาก่อนว่าเป็นของจริง พร้อมสั่งยุติประมูลทั้งหมด 13 เรือน เร่งคืนเงินมัดจำผู้เสียหาย ลุยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขีดเส้น 15 วันต้องสรุป เปิดทางกองปราบเข้าร่วม แจงเล็งปรับกระบวนการประมูล ป้องกันเกิดปัญหาในอนาคต
10 ก.ค. 2566 – นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการประมูลนาฬิกาจากกรมศุลกากร และภายหลังพบว่าเป็นนาฬิกาปลอมเครื่องหมายการค้า ว่า กรมศุลกากรได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว มีข้อเท็จจริงดังนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้เข้าตรวจค้นร้านขายนาฬิกาบริเวณศูนย์การค้า Siam Square One พบนาฬิกามีเครื่องหมายการค้า จำนวน 14 รายการ จึงได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาตรวจสอบ พบว่า มีจำนวน 1 เรือน เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า และอีก 13 เรือน เป็นของที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์
ดังนั้น กรมศุลกากร จึงนำ 13 เรือน และได้ประกาศขายทอดตลาด ในวันที่ 28 มิ.ย. 2566 โดยเปิดให้เข้าชมของกลาง วันที่ 5 ก.ค. 2566 และเปิดซองการประมูล วันที่ 6 ก.ค. 2566 มีผู้เข้าร่วมการประมูลทั้งสิ้น 18 ราย
ทั้งนี้ หลังจากได้รับข้อมูลจากผู้ประมูลว่า นาฬิกาที่มีการประมูลจากกรมศุลกากรเป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการตรวจสอบทันที ซึ่งได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาหารืออีกครั้ง โดยเจ้าของสิทธิ์แจ้งว่า นาฬิกาทั้งหมดที่ได้ประมูล วันที่ 6 ก.ค. 2566 เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า กรมศุลกากรจึงออกคำสั่งยกเลิกการประมูลและให้คืนเงินให้กับผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด โดยในส่วนของกรมศุลกากรจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนต่อไป
“กรมฯ ยอมรับผิดในส่วนนี้ และขออภัยสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ ซึ่งตอนนี้กรมฯ ได้ยกเลิกการประมูลทั้ง 13 เรือนเรียบร้อย แม้จะยังไม่มีข้อมูลทางการยืนยันว่าเป็นของปลอมทั้งหมดกี่เรือน แต่เบื้องต้นมีการยืนยันมาแล้วว่าเป็นของปลอม 4 เรือน ซึ่งในส่วนนี้จะเร่งคืนเงินให้กับผู้เสียหายภายในวันนี้ (10 ก.ค.) ส่วนที่เหลือหลังจากนี้จะเร่งคืนเงินมัดจำให้ผู้ประมูลทั้งหมด” นายพันธ์ทอง กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมีการเรียกร้องค่าชดเชยนั้น กรมศุลกากรยืนยันว่า ตามระเบียบราชการไม่ได้มีการกำหนดไว้ แต่กรมฯ ยินดีที่จะรับไปหารือในรายละเอียด รวมทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน ซึ่งหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะส่งเรื่องให้กองปราบเข้ามาร่วมตรวจสอบ ยืนยันว่ากรมฯ ยินดีให้ตรวจสอบ เพราะเรื่องนี้ทำให้เสียภาพลักษณ์
นายพันธ์ทอง กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้มีการหารือกับนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการประมูล เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยอาจจะมีการดึงผู้ประมูลที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งอาจลดเงื่อนไขในการนำของออกไปตรวจสอบที่จากเดิมจะต้องวางมัดจำ 25% ของราคาประมูลก่อน
“ช่วงนี้กรมฯ อาจจะไม่ควรประมูลขายอะไร คงต้องปรับระเบียบให้เรียบร้อยก่อน” นายพันธ์ทอง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศุลกากรเข้มระดมกำลังตรวจค้นจับกุมร้านนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด
กรมศุลฯ ยกเลิกขายทอดตลาดนาฬิกา หลังตรวจพบว่าเป็นของปลอม
กรมศุลกากร ชี้แจง กรณีขายทอดตลาดนาฬิกาปลอม ตามที่มีแหล่งข่าวเสนอข่าวเกี่ยวกับการขายทอดตลาดนาฬิกาปลอมจาก กรมศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบกับเจ้าของเครื่องหมายการค้า พบว่า เป็นนาฬิกาปลอมจริง