จท.โชว์แผนพัฒนาท่าเรือครูสรับตลาดท่องเที่ยวไทย ชี้ธุรกิจโตเฉลี่ย 14 % ต่อปี

”กรมเจ้าท่า”เดินหน้าพัฒนาท่าเรือรับตลาดท่องเที่ยวเรือสำราญ โตเฉลี่ย 14 % ต่อปี คาดเปิดให้บริการปี71 กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน

4 ก.ค. 2566 – รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า(จท.) เปิดเผยถึงพัฒนาศักยภาพการให้บริการท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) สนับสนุนธุรกิจเรือครูสในประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและสร้างรายได้ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย – ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและทรัพยากรที่เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดเรือสำราญที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในประเทศไทย 14 % ต่อปี และปัจจุบันโควิด-19 ได้คลี่คลายลงส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวเรือสำราญเติบโตอีกครั้ง สร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว กระจายลงสู่ประชาชนในท้องถิ่น

ทั้งนี้กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยววงเงินรวม 156.15 ล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือผ่านประเทศไทย ทั้งในเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามันซึ่งมีท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ ท่าเรือปลายทางที่จังหวัดภูเก็ต และเส้นทางฝั่งอ่าวไทยมีท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยผ่านประเทศไทยซึ่งแวะเข้าจอดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

สำหรับแนวทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ.2561 -2570 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผนวกกับผลการศึกษาที่กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการไว้เดิม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา โดยทั้ง 3 โครงการที่ขอตั้งงบประมาณ สนับสนุนครอบคลุมทุกเส้นทางการเดินเรือครูสผ่านประเทศไทย ได้แก่ 1. โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2. โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน และ3. โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน

ทั้งนี้เมื่อรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการการให้เอกชนร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ทั้ง 3 โครงการมีขั้นตอนการดำเนินงาน ได้แก่ ตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 จัดทำรายงาน EHIA ระยะเวลา540 วัน ตั้งงบประมาณ พ.ศ.2568-2569 คัดเลือกผู้ร่วมทุน (ระยะเวลา 360 วัน) ตั้งงบประมาณ พ.ศ.2569-2571 เริ่มก่อสร้าง ระยะเวลา 900 วัน แผนเปิดให้บริการท่าเรือภายในปี พ.ศ.2571

สำหรับการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือครูส จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเรือครูสในประเทศไทยได้อย่างครอบคลุมเส้นทางทั้งสองฝั่งทะเล เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำ เพิ่มการจดทะเบียนเรือท่องเที่ยวทางน้ำ อีกทั้งเพิ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านด่านทางน้ำอีกด้วย โดยในแง่เศรษฐกิจเรือครูส 1 ลำ มีนักท่องเที่ยวประมาณ 3,000 คน

ทั้งนี้จากผลการสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายประมาณ 7,000 บาท/คน/วัน หมายความว่า เรือครูส 1 ลำ นำเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ประมาณ 21 ล้านบาท/วัน/ลำ หากเรือครูสแวะเข้าเทียบท่าจำนวนมากขึ้น และจอดท่องเที่ยวในเมืองไทยนานขึ้น จะสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นไปด้วย อีกทั้งในกรณีที่ท่าเทียบเรือได้รับการพัฒนาให้เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากที่ได้กล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 – 8 เท่า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พะยูนยังเหลืออยู่ที่ไหน? อีกเท่าไหร่ในปัจจุบัน

ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์พะยูนเมืองไทย  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอความร่วมมือช่วยกันส่งจุดที่พบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในฝั่งอันดามัน   

“เจ้าท่า” เตรียมคิกออฟจัดงานวันทางทะเลโลก 25 ก.ย.นี้ โชว์ศักยภาพขนส่งทางทะเลสู่มาตรฐานความปลอดภัยที่ยั่งยืน

“กรมเจ้าท่า” เตรียมคิกออฟวันทางทะเลโลก 25 กันยายนนี้ เดินหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มศักยภาพการบริหารความปลอดภัยเส้นทางขนส่งทางทะเล - ท่าเรือไทย ตามมาตรฐาน IMO ดึงเทคโนโลยี นวัตกรรมการเดินเรือ เพื่อการบริหารจัดการเส้นทางสัญจรทางทะเล ท่าเรือ และบุคลากรประจำเรือ

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 เตือนฝนตกหนักถึงหนักมาก ทะเลคลื่นลมแรง

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน"