3 ก.ค. 2566 – สถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประเมินว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศสุดขั้ว โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงภาวะฝนทิ้งช่วง และฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ทำให้หลายภาคส่วนต่างมีความกังวลว่าในปี 2566 ไทยเสี่ยงจะเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี จะทำให้หลายพื้นที่ หลายจังหวัดเสี่ยงที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร รวมไปถึงกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า กกร.มีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย
และยังมองว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.66 อาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี และภัยแล้งจะขยายเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงและทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงและราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ สมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ระบุว่า แม้ว่าตอนนี้จะมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาเพิ่มเติมแต่มีปริมาณลดลง โดยเฉลี่ยปริมาณฝนปีนี้มีค่าต่ำกว่าปกติ 40% และในพื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าปกติ 60% แต่น้ำต้นทุนยังเพียงพอในการใช้ระหว่างที่ฝนทิ้งช่วง มิ.ย. และฝนจะมาอีกครั้งในช่วง ส.ค. สิ่งที่กังวลคือ ปี 2567 ที่น้ำต้นทุนในภาคตะวันออกอาจจะลดอย่างมาก หากไม่เร่งบริหารจัดการน้ำอาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้กำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ก็อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยเร็ว
ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งบริหารจัดการเพื่อให้น้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับสมาชิกและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการ 3R ประกอบด้วย Reduce Reuse และ Recycle ทั้งภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคเกษตรอัจฉริยะที่เน้นนำนวัตกรรมมาดูแลระบบน้ำเพื่อการประหยัดมากขึ้น
“แผนระยะยาวจำเป็นต้องมองในแง่ของการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสังคมเมืองภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่แหล่งน้ำในอนาคตจำเป็นต้องมีให้เพียงพอกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ก็ได้ทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยระยะเร่งด่วน 3 ปีแล้ว” นายสมชายกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับปัญหาภัยแล้งที่ไทยประสบในช่วงที่ผ่านมาเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีแบบมีนัยสำคัญ ซึ่งในเบื้องต้น กกร.ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 36,000 ล้านบาท จะเห็นได้จากในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมานั้นจีดีพีของไทยเติบโตเพียง 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.4% และภัยแล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฉุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบสูงถึง 5.94% เช่นเดียวกับปี 2554 ที่ภัยแล้งรุนแรงฉุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบถึง 4.12%
ในเรื่องนี้ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในฐานะคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. เปิดเผยว่า จากการติดตามปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ พบว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 เป็นต้นไป ดังนั้นปริมาณฝนในปีนี้จึงมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าปกติหรือน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย และคาดว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณช่วงเดือน มิ.ย.66 เดือน ก.ค.66 และมีฝนน้อยกว่าค่าปกติในช่วงเดือน ก.ย.66
ดังนั้น กอนช.จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หากมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะต้องเป็นการวางแผนระยะยาว โดยใช้หลักการบริหาร 2 ปี คือ ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้มีปริมาณน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งมากที่สุด
สำหรับในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน 10 มาตรการฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2566 โดยติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำประแสร์ และสรุปภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จากผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเกษตร พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ มีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ผ่านรายการ “รู้อยู่กับน้ำ” เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของภัยพิบัติด้านน้ำและสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้ในทุกสถานการณ์ รวมถึงมีการพูดคุยร่วมกับนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เพื่อมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรม สร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก
สุรสีห์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำโดยรวมอยู่ที่ 50% ของความจุเก็บกัก คืออยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่ผ่านมาได้พัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการคาดการณ์การใช้น้ำของอีอีซีในปี 2570 ว่าจะมีมากกว่าเดิมถึง 500-600 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจำเป็นต้องมีแผนในการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อรองรับอีอีซี
“อีอีซีเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออก 38 โครงการ ดำเนินการระหว่างปี 2563-2580 ใช้งบประมาณกว่า 53,000 ล้านบาท ได้ขับเคลื่อนโครงการเสร็จไปแล้ว 14 โครงการ ใช้งบลงทุน 6,700 ล้านบาท ได้น้ำมาประมาณ 203 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 8 โครงการ ใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งจะเสร็จในปี 67 และจะมีอีก 16 โครงการ วงเงิน 37,000 ล้านบาท โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2575 ภายใต้แผนแม่บทน้ำฉบับปรับปรุง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สทนช.มีเป้าหมายขับเคลื่อนอีก 16 โครงการ โดยจะเร่งรัดให้เป็นไปตามแผน คือทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในปี 2580 หากไม่สามารถดำเนินการจะส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในอนาคตไม่เพียงพออย่างรุนแรง และกระทบกับการอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคอุตสาหกรรมแน่นอน เนื่องจากทั้ง 16 โครงการจะได้น้ำมากถึงกว่า 110 ล้านลูกบาศก์เมตร” สุรสีห์ กล่าว
สุรสีห์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเร่งทั้ง 16 โครงการให้เดินหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของการขออนุญาตในการใช้พื้นที่ป่า ซึ่งพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ต้องการข้อมูลเพื่อไปประกอบการขออนุญาต ก็ควรที่จะดำเนินการโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในโครงการที่ได้ขับเคลื่อน และจะแล้วเสร็จในปี 2566 คือ โครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 73% ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ประกอบด้วย การก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ขุดลอกคลองชลประทานพานทอง ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง การก่อสร้างประตูระบายน้ำและท่อระบายน้ำ 5 แห่ง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองพานทอง และผันน้ำไปจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำบางพระได้อีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 5,450 ไร่ รวมทั้งสนับสนุนความมั่นคงของน้ำ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่อีอีซี ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ประเทศต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' คุย กกร. ชื่นมื่น! ปลื้มอวย 'พ่อนายกฯ' แก้เศรษฐกิจเก่งสุด
นายกฯ คุย ‘กกร.’ รับข้อเสนอแก้เศรษฐกิจ จับมือเอกชนหารายได้ใหม่เข้าประเทศ ด้าน ‘สนั่น’ เชื่อมั่นรัฐบาลอิ๊งค์ พร้อมช่วยดันจีดีพีโต ชมเปาะ 'ทักษิณ' เก่งสุด
เอกชนยังอุ่นใจ ได้รบ.พรรคเดิม สานต่อนโยบาย
ประธาน ส.อ.ท.เทียบ "ชัยเกษม-เเพทองธาร" เด่นคนละแบบ ชี้ "ชัยเกษม" มีความเก๋าทางการเมือง "แพทองธาร" เป็นคนรุ่นใหม่เข้าใจวัยรุ่น
เตรียมใจยังร้อนกันอีกยาว 'เอลนีโญ'ส่อหวนกลับมาเร็ว
จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย ปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) และลมมรสุม (Monsoon) นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรว
ทะเลเดือดของจริง! 'ดร.ธรณ์' เผยอ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา อุณหภูมิน้ำสูงจนน่าสะพรึง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เ