‘กรณ์’ ชำแหละปัญหาส่วนต่างดอกเบี้ย แนะวิธีการลดดอกเบี้ยเงินกู้

2 ก.ค.2566-นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า สุดสัปดาห์วันนี้ มาชวนคุยเรื่องปัญหา ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย’ และวิธีการ “ลดดอกเบี้ยเงินกู้” ในไทยกันครับ

ผมเคยเล่าเชิงเปรียบเทียบว่าที่ออสเตรเลีย ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านห่างกันเพียง 1% ในขณะที่ในตลาดการเงินไทยห่างกันถึง 5% ในไทยมีธนาคารให้บริการสินเชื่อซื้อบ้านถึง 15 ธนาคาร แต่อัตราดอกเบี้ยทุกธนาคารต่างกันน้อยมาก การเพิ่มจำนวนธนาคารจึงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เหตุผลที่ดอกเบี้ยเงินกู้เราสูงมีหลากหลาย ข้อเท็จจริงคือธนาคารไทยมีสัดส่วนทุนเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงเมื่อเทียบกับที่อื่น ความหมายคือถึงแม้รายได้ธนาคารดูเหมือนสูง แต่อัตราการทำกำไร (เมื่อเทียบกับทุนที่สูง) ของธนาคารไทยกลับค่อนข้างตํ่า – พูดง่ายๆ คือรายได้เยอะแต่กำไรน้อย แบบนี้แย่ทั้งกับผู้ใช้บริการและผู้ถือหุ้นธนาคาร และแย่กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม

กฎหมายการยึดหลักประกันก็ไม่เอื้อต่อการสะสางการจัดการกับหนี้เสียได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้ก็เป็นเหตุให้ลูกหนี้ดีต้องแบบรับภาระของลูกหนี้เสียด้วยอัตราเงินกู้ที่สูงเกินควร ฝ่ายกำกับให้ความสำคัญกับความมั่นคงของธนาคารสูง หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทัศนคติการปกป้องธนาคารจึงเป็น วัฒนธรรมหลักในการออกนโยบาย แต่ความมั่นคงที่สูงมีต้นทุนเสมอ (เช่นเดียวกับกำลังผลิตไฟฟ้าที่สูงมากที่ทำให้ค่าไฟแพง หรือเงินคงคลังที่สูงที่ทำให้รัฐบาลมีภาระดอกเบี้ยที่สูงด้วย) ถูกแล้วที่ฝ่ายการเมืองต้องหาวิธีลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ซึ่งในบริบทของเมืองไทยที่ประชาชนจำนวนมากยังกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ จึงหมายถึงการเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถกู้ยืมเงินในระบบธนาคารให้มากขึ้นด้วย

ในความคิดของผม เรื่องที่ควรต้องทำพร้อมกันจึงมีหลายเรื่อง ผมขอเสนอ 4 เรื่อง ส่วนใครมีความคิดเห็นอื่นเพิ่มเติมลองแชร์กันนะครับ  1. #ปฏิรูประบบธนาคาร ให้เป็น Open Data Banking – ซึ่งความหมายหลักคือปฏิวัติหลักการเพื่อให้กรรมสิทธิ์ข้อมูลของลูกค้าเป็นของลูกค้า (ไม่ใช่ของธนาคาร) และลูกค้าสามารถอนุมัติให้ธนาคารอื่นๆ ทุกธนาคารสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งได้ เมื่อเข้าถึงข้อมูลได้ก็จะเกิดการแข่งขันทันที – Open Data Banking จะเป็นระบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นจริงระหว่างธนาคาร และส่งผลมากกว่าการเพิ่มจำนวนธนาคารในระบบเดิม

2. #แก้กฎหมายเครดิตบูโร เปลี่ยนระบบ credit bureau เป็นระบบ credit score ด้วยการเพิ่มประเภทข้อมูลที่ใช้ในการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ประสงค์จะกู้ นำไปสู่การ #ยกเลิกแบล็กลิสต์ โดยพฤตินัย

3. #เพิ่มการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มผู้เล่น โดยเฉพาะผู้เล่นที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุนการให้บริการ (อย่างเช่น digital bank หรือที่แบงก์ชาติเรียกว่า virtual bank)

4. #ทบทวนกลไกการบังคับสัญญาการกู้ยืม เพื่อให้มีการสะสางหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อนแต่ก็มีความสำคัญ

คนไทยจะได้ 1) กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง 2) การแข่งขันเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องทุ่มเพิ่มทรัพยากรลงไปในการขยายระบบธนาคารมากเกินไป

เพิ่มเพื่อน