ธนาคารโลกเคาะจีดีพีไทยโต 3.9% ห่วงอลวนการเมืองถ่วงลงทุนภาครัฐชะงัก!

“ธนาคารโลก” เคาะเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตสะพรั่งที่ 3.9% อานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งออกยังอ่วมพิษเศรษฐกิจโลกชะลอ มองฟื้นตัวได้แต่ยังรั้งท้ายอาเซียน ห่วงการเมืองไม่นิ่งถ่วงลงทุนภาครัฐชะงัก ระบุมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานทำนโยบายการคลังเข้าสู่สมดุลล่าช้า บิดเบือนกระบวนการเงินเฟ้อ

29 มิ.ย. 2566 – นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ประจำธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวในการนำเสนอหัวข้อ “การฝ่าแรงต้านของเศรษฐกิจโลก : การพัฒนาและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” ในการเปิดตัวรายงานธนาคารโลก ตามติดเศรษฐกิจไทย “การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัย” ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.9% สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงอุปสงค์ภายนอกจากจีนที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ในประมาณการเดิม

ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัวตามการชะลอลงของอุปสงค์ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ส่วนการบริโภคภาคเอกชน แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง หลังจากการฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดเมืองเมื่อปีก่อน แต่จะยังขยายตัวได้แข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น และอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากจีน ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะชะลอตัวจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นระยะเวลานาน
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.6% และปี 2568 ที่ 3.4% ชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง อัตราการเติบโตที่ระดับศักยภาพในระยะยาวคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% ช้ากว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 3.6% ในช่วงปี 2553-2562

“ปีนี้เศรษฐกิจโต 3.9% หลัก ๆ มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนการบริโภคชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ราว 3% ขณะที่การส่งออกชะลอลง ตามบริบทเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่วนการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดโควิดได้ในปี 2567ขณะเดียวกันมองว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ก็ยังล่าช้า ซึ่งถือเป็นประเทศท้าย ๆ ในอาเซียน เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า ปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ 2.5% ต่อจีดีพี จากการค้าทั้งสินค้าและบริการ หลังจากที่ขาดดุลตลอดช่วง 3ปีที่ผ่านมา แม้ว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าจะยังคงชะลอตัว แต่มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มผ่อนคลายจะส่งผลให้การเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและค่าขนส่งที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางถึง 2% ซึ่งต่ำกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ และอยู่ในอันดับที่ 2 ในอาเซียนที่อัตราเงินเฟ้อต่ำสุด ท่ามกลางราคาพลังงานโลกที่เริ่มผ่อนคลาย การตรึงราคาและการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ

“อุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง การตรึงราคาพลังงานประเทศซึ่งรวมถึงไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มจะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/2566 และจะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการระบาดของโควิด แม้ว่าการควบคุมราคาพลังงานและการขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพ แต่การควบคุมราคาดังกล่าวมักจะเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ ส่งผลกระทบแบบถดถอยในการกระจายรายได้ และบิดเบือนกระบวนการของเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งผลให้การปรับภาวะการคลังให้สมดุลทำได้ช้าลง” นายเกียรติพงศ์ ระบุ

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ระดับผลผลิตยังไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพในปี 2566 ไปจนถึงปี 2568 โดยการกลับสู่เส้นทางดังกล่าวอาจช้าลงไปอีก จากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ยากลำบากและราคาพลังงานที่อาจกลับมาสูงขึ้น ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจทำให้การลงทุนภาครัฐหยุดชะงัก จากปีนี้ที่การลงทุนภาครัฐสูงสุดในรอบ 6 ปี รวมถึงความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยประเทศไทยต่างจากประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในด้านพื้นที่ทางการคลังที่ยังคงมีเหลือเพื่อใช้ตอบสนองความต้องการในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดี มองว่าไทยและหลายประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และภาครัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอุทกภัยและภัยแล้งเป็นจำนวนมากและจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งมีการประเมินว่าผลจากอุทกภัยในรอบ 50 ปี อาจทำให้เกิดความสูญเสีย 10% ของการผลิต แต่หากไม่มีการปรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ความสูญเสียด้านการผลิตอาจกลายเป็น 15% ได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ลงทุนในคน สาธารณะสุข และเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้มากขึ้น อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ซึ่งไทยยังมีพื้นที่ในการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อรองรับการลงทุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ซัดรัฐบาล 'เศรษฐา' หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น

“ชนินทร์” ปชป. ซัดรัฐบาล “เศรษฐา” หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น ประจานไร้น้ำยา และจริยธรรม เหตุประมาณการ GDP ถูกปรับลด เตือนรากหญ้าตาย รายใหญ่ไปไม่รอด ประเทศหายนะ