26 มิ.ย. 2566 – ในปี 2566 นี้ สถานการณ์การพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีที่รู้จักกันในประเทศไทยนั้นเริ่มเข้มข้นขึ้นมาก เนื่องจากสังคมเริ่มเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลง ราคาที่ลดลง จนมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้งานมีความหลากหลายขึ้น ทำให้รถยนต์อีวีนั้นเริ่มจะกลายเป็นรถของคนทุกกลุ่มได้ ขณะที่ภาคเอกชนก็เดินหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น มีการลงทุนขยับขยายกำลังการผลิต มีเป้าหมายนำเข้าและเกิดความร่วมมือที่ชัดเจน ซึ่งเทรนด์นี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก
แบ่ง 5 กลุ่มผู้ใช้รถยนต์อีวี
นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในเทรนด์ทางเลือกแห่งอนาคตที่กำลังได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยผลักดันการขยายตัวของตลาด กรุงศรี ออโต้ ในฐานะผู้นำตลาดสินเชื่อยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ได้เปิดเผยอินไซด์ของผู้ใช้รถ EV โดยแบ่งเป็น 5 เซ็กเมนต์ โดยได้เก็บรวบรวมจากพฤติกรรมการใช้บริการสินเชื่อยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย
เซ็กเมนต์ที่ 1 ผู้บริหารฐานะมั่นคง มีสไตล์: กลุ่ม Early Adopter ของรถอีวี เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดของผู้ใช้รถอีวีในปัจจุบัน ซื้อรถอีวีเป็นคันที่สอง ในราคากลางค่อนสูง ดาวน์สูง ผ่อนสั้น สนใจเรื่องดีไซน์และแบรนด์ของรถ มองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุม, เซ็กเมนต์ที่ 2 คนรุ่นใหม่ สายเทค รักษ์โลก: เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีของรถอีวีเป็นหลัก มีการศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง ซื้อรถราคากลางค่อนสูง ดาวน์สูง ผ่อนกลางถึงยาว มองหาการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
เซ็กเมนต์ที่ 3 ครอบครัวหรรษา พาลูกเที่ยว: กลุ่มผู้ซื้อรถอีวีแบบครอบครัวที่เน้นการขับขี่รถในชีวิตประจำวันและวันหยุดพักผ่อน คำนึงถึงการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของลูก ซื้อรถราคากลางๆ ดาวน์สูง ผ่อนสั้น มองหาบริการที่ครอบคลุม สะดวกสบาย และอีโคซิสเต็มที่ไร้รอยต่อ, เซ็กเมนต์ที่ 4 สายประหยัด เน้นใช้งานคล่อง: ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า เป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นในอนาคต หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ซื้อรถเงินสด ราคากลางค่อนต่ำ ดาวน์สูง ผ่อนสั้น เปิดรับแบรนด์รถรุ่นใหม่ๆ มองหาโปรโมชั่น
และเซ็กเมนต์ที่ 5 นักศึกษาจบใหม่ อนาคตไกล: กลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานและมีศักยภาพในการเติบโตสูงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของอีวีพร้อม ราคาโดยรวมของตลาดลดลง และมีตัวเลือกมากขึ้น ซื้อรถราคากลางๆ ดาวน์ต่ำ ผ่อนยาว สะท้อนได้ชัดเจนว่ารถยนต์อีวีนั้นเริ่มกลายมาเป็นรถยนต์เพื่อสะท้อนความต้องการของคนทุกกลุ่มได้แล้ว ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกก็มีการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถยนต์พลังงานใหม่ และผลักดันให้กลายเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศแล้ว
จีนเดินหน้าสนับสนุนยานยนต์พลังงานใหม่
จีนที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์และตลาดผู้ใช้ยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่องนาน 14 ปี และในช่วงนี้เองที่จีนถือว่ามีการปรับตัวและเดินหน้าเทคโนโลยีและโซลูชันสำหรับยานยนต์พลังงานใหม่ หรือที่ถูกเรียกว่า NEV โดย นายบรู๊ซ ชู ผู้จัดการโครงการอาร์เอ็กซ์ เกรตเตอร์ ไชน่า ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จีนมีการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด 1.07 ล้านคัน โดยในส่วนนี้มีกลุ่มยานยนต์พลังงานใหม่อยู่ที่ 248,000 คัน และจากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน รายงานว่าในปี 2565 จีนมีการผลิต NEV อยู่ที่ 7.05 ล้านคัน มียอดขายกว่า 6.88 ล้านคัน นับเป็นการเติบโตสูงถึง 97% จากปี 2564
นายบรู๊ซ ชู กล่าวว่า จีนไม่ใช่เป็นเพียงผู้ผลิตและใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งส่งผลให้รถยนต์กลุ่ม NEV ในจีนนั้นเกิดความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการพัฒนานั้นค่อนข้างไปได้ไกล เมื่อเทียบเทคโนโลยีแล้วไม่ต่างจากรถยนต์จากฝั่งสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงเดินหน้าที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ และต้องการให้เกิดความร่วมมือภายในประเทศรวมถึงการร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีการเดินหน้าจัดงาน Automotive World China 2023 ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลเซินเจิ้น และจะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 ต.ค.นี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนและการจับคู่เจรจาทางธุรกิจ
“ภายในงานยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประจำเมืองกว่างโจว และสถาบันยานยนต์ ดึงผู้ประกอบการไทยให้เข้าร่วมงานและเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์กลุ่ม NEV โดยคาดว่าจะเกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคตนั้นให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง”
ยอดจดทะเบียนรถอีวีในไทยบูม
ในประเทศไทยก็เริ่มมีความสนใจด้านการใช้งานรถยนต์อีวีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV ในเดือน พ.ค.2566 มีการจดทะเบียนใหม่จำนวน 7,132 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 355.14% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 5,576 คัน รถกระบะ รถแวน มีทั้งสิ้น 5 คัน รถยนต์สามล้อรับจ้าง มีทั้งสิ้น 14 คัน รถยนต์รับจ้างสามล้อ มีจำนวน 14 คัน รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 1,376 คัน
และในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2566 มียานยนต์ประเภท BEV จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 33,365 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 485.15% โดยยอดจดทะเบียนสะสมในรถยนต์ประเภทนี้ ณ วันที่ 31 พ.ค.66 มีจำนวนทั้งสิ้น 65,333 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 283.72% สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ BEV หรือที่เป็น EV 100% นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3 การไฟฟ้าลุยพัฒนาอีโคซิสเต็มรถอีวี
แน่นอนว่าเรื่องการใช้งาน รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้านั้นเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว แต่การที่จะสนับสนุนให้เกิดความต้องการหรือการเปลี่ยนผ่านไปยังการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบนั้นต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มกำลัง ไม่ใช่เพียงสนับสนุนให้ผลิตและขายเท่านั้น แต่ผู้บริโภคในประเทศจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าหากใช้งานแล้วจะไม่เกิดปัญหาที่ติดขัดในด้านการสนับสนุนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เองอีกกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้จะไม่ใช่ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ก็เดินหน้าเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมได้ก็จำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างเต็มที่
ซึ่งล่าสุด 3 การไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้จัดงานแสดงผลงานนวัตกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยเฉพาะความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้าในหัวข้อ “อีวีโรมมิ่ง (EV Roaming)”
อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานด้านอีวีโรมมิ่งของ กฟผ.นั้นได้มีการสนับสนุนนโยบายในประเทศที่ผลักดันตั้งแต่ต้นน้ำ โดย นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ การสร้างความมั่นใจให้คนที่เปลี่ยนมาใช้อีวีนั้นเกิดความเชื่อมั่น โดยในเรื่องไฟฟ้านั้น กฟผ.ก็เดินหน้าผลิตและทำอย่างเต็มที่ แต่ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านการใช้งานรถอีวีนั้นก็ต้องเป็นเรื่องของสถานีชาร์จไฟ (ปั๊มชาร์จ) โดยในด้านนี้เอง กฟผ.ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย และมีการให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT
นายวฤตกล่าวว่า การโรมมิ่งที่จะให้ใช้งานได้สะดวกนั้นมีการคุยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องทำให้สะดวกและสนับสนุนการใช้งานให้ง่ายที่สุด โดยในปี 2565 ได้มีการร่วมมือกันระหว่าง 3 การไฟฟ้าและเอกชนที่เกี่ยวข้อง พัฒนาความร่วมมือในการใช้งานแอปพลิเคชันที่ใช้หาเส้นทางไปยังสถานีชาร์จ จองการชาร์จ หรือจ่ายเงินในการใช้งานปั๊มชาร์จ ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบเดียวกันที่ไม่ว่าจะใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการหน่วยงานใด ก็สามารถใช้งานได้อย่างไม่ติดขัดโดยโจทย์หลักในปี 2566 นี้คือ การสร้างมาตรฐานและกฎกติกาที่เป็นรูปแบบเดียวกัน ทั้งมาตรฐานทางด้านการเงิน ภาษี หรือการใช้งานระบบเช่นเดียวกับโมเดลของยุโรป โดยเมื่อมีการเจรจากับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ซึ่งเร็วๆ ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางความร่วมมือกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จในลาวและสิงคโปร์ และในอนาคตก็จะสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งอาเซียนต่อไป
ด้าน นายพงศกร ยุทธโกวิท ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า กฟภ. กล่าวว่า ภายในปีนี้จะได้เห็นการพัฒนาระบบจัดเก็บเงินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับต่างประเทศในอนาคต ซึ่งยังต้องเจรจาถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ให้การโรมมิ่งนั้นเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีความคิดเห็นว่า การเก็บเงินที่ง่ายนั้นควรจะใช้หน่วยกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ด้าน นายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจ กฟน. กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจะมีต่อผู้ใช้งานรถยนต์อีวี ซึ่งการโรมมิ่งกันนั้นจะสามารถลดค่าใช้จ่าย ลดความยุ่งยากของการใช้งาน สามารถเปิดแอปพลิเคชันเดียวก็สามารถใช้งานได้กับทุกผู้ให้บริการ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้านั้นถือเป็นการสร้างมาตรฐานเพื่อเป็นโมเดลให้กับหน่วยงานหรือภาคเอกชนรายอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ โดยในอนาคตจะมีการกำหนดมาตรฐานกลางเพื่อให้เกิดการใช้งาน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้การโรมมิ่งนั้นใช้งานง่ายที่สุด.