กสิกรไทยจับตา 'โอมิครอน' คาดเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวได้ 2.8-3.7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวได้ 2.8-3.7% ขึ้นกับความรุนแรงของไวรัส Omicron

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยกลับมามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังเริ่มปรากฏการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม การที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มด้านการเดินทาง ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ภายใต้มาตรการการเดินทางและสุขอนามัยต่างๆ ที่คุมเข้มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปิดประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกมีความกังวลต่อความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด ทั้งนี้ ในการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัส Omicron จะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรุนแรงของโรค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ะบาดของสายพันธุ์ Omicron จะบรรเทาลงในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติม โดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ในกรณีดีนั้น แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลดหรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ ไทยก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น เศรษฐกิจทั้งปี 2565 ก็ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งภายใต้กรณีนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในกรณีแย่ที่สายพันธุ์ Omicron มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานในกรณีแย่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมก็ยังดีกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta ที่เริ่มในช่วงเดือนเม.ย. 64

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ขยายความเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวไทยว่า ในกรณีดีนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 น่าจะฟื้นตัวมาแตะ 4 ล้านคน จากปีนี้ที่ประมาณ 3.5 แสนคน แต่สำหรับกรณีแย่ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือประมาณ 2 ล้านคน เพราะการท่องเที่ยวจะขาดช่วงไป 2-3 เดือน จากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จำเป็นต้องยกระดับการควบคุมการเดินทาง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7-8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้งสองกรณีก็ยังถือว่าห่างไกลจากช่วงก่อนโควิดมาก

สำหรับแนวโน้มภาคการเงินนั้น นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ในกรณีดีที่ผลกระทบจากไวรัส Omicron จำกัด ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังน่าจะทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตามแผน ซึ่งตลาดประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 2565 ถึง 2-3 ครั้ง อันจะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงกว่าไทยในช่วงปลายปี และย่อมจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ ในกรณีแย่ การระบาดของไวรัส Omicron จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อันทำให้เงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกขาดปัจจัยหนุนและอ่อนค่ากว่ากรณีแรก โดยมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน ธุรกิจควรรับมือกับภาวะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง ดังในช่วงระหว่างปี 2564 ที่เงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหว (ระดับอ่อนค่าสุด-ระดับแข็งค่าสุด) กว้างถึง 4 บาทกว่า เทียบกับปี 2563 ที่กรอบประมาณ 3.40 บาท ขณะที่ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะยังไม่ปรับขึ้นในปี 2565 แต่แนวโน้มต้นทุนการกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อ และนักลงทุนรายย่อยไทยคงจะยังแสวงหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง (Search for Yield)

ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2565 นั้น เป็นอีกปีที่คงขับเคลื่อนด้วยความระมัดระวัง เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมองสินเชื่อขยายตัวในกรอบคาดการณ์ 4.0-5.5% ซึ่งชะลอลงจากปี 2564 ที่สินเชื่อขยายตัวแตะระดับ 6.0% ซึ่งดีกว่าคาด เพราะธุรกิจสะสมสภาพคล่อง และมีผลของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ขณะที่ เอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้น เข้าหาระดับประมาณ 3.30% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับราว 3.20% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งแม้จะถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากเพราะยังมีอานิสงส์ของการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท.อยู่ แต่ธนาคารพาณิชย์คงไม่ได้ผ่อนระดับการตั้งสำรองฯ ลงมากนัก อันมีส่วนทำให้ระดับความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 ยังไม่เข้าใกล้ระดับก่อนวิกฤตโควิด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน

'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%

‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น

ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า