‘คมนาคม’นัดถกปมส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกยังไร้ข้อสรุป

‘คมนาคม” ถกผลสอบเจ้าหน้าที่กระทำผิดสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกยังไร้ข้อสรุป เผยผลตรวจด่านชั่งน้ำหนักมากกว่า 28 แห่ง พบเจ้าหน้าที่ขาดแคลน-ติดตั้งระบบ WIM เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมเร่งติดกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ 60 ตัว กว่า 5 แสนบาท เสร็จในปีนี้

20 มิ.ย.2566-นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งที่ 3/2566 กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก คณะทำงานรายงานผลการลงพื้นที่ตรวจสถานีตรวจสอบน้ำหนักเพิ่มเติมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วจำนวน 28 แห่ง ซึ่งพบว่าต้องติดตั้งเทคโนโลยีระบบตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (WIM) ให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ขาดแคลน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

นายพิศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบของกรมทางหลวง (ทล.) เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประเด็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในเรื่องสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงาน ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยการประชุมครั้งหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ทล. หลังจากที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลกับกรมทางหลวงตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสั่งการให้มารายงานว่ามีบุคลากรที่เกี่ยวข้องหรือต่อไป รวมทั้งการเร่งประชาสัมพันธ์การทำงานเกี่ยวกับตรวจสถานีตรวจสอบน้ำหนัก ซึ่งจะเป็นรูปแบบคลิปวีดีโอ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ที่ข้อมูลมากขึ้น

“ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกตของประชาชนเกี่ยวกับการทำงานของกระทรวงคมนาคมล่าช้า เกี่ยวกับการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ซึ่งต่างจากตำรวจที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วนั้น การทำงานของกระทรวงจะแตกต่างจากตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน สืบสวน และสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้รวดเร็ว แตกต่างจากกระทรวงคมนาคมที่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการ ทล. อยู่ระหว่างหาทำงาน ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”นายพิศักดิ์ กล่าว

ด้านนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดี ทล. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเรื่องติดตั้งระบบ WIM นั้น ทล. จะเร่งรัดการทำงานโดยขอจัดตั้งงบประมาณในปีนี้ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักขาดแคลนนั้น จะเร่งแก้ไข และบรรจุพนักงานใหม่ เพื่อให้รวดเร็วที่สุดในปีงบประมาณ 2567  

นายจิระพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการนำระบบกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ (Body Camera) มาใช้ในตรวจสอบน้ำหนัก และ ตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ของ ทล. และ ทช. นั้น ส่วนของ ทล. อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติ (สเปก) ของกล้อง เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับตำรวจทางหลวงได้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้กล้องจำนวน 40-50 ตัว โดยใช้งบประมาณจากที่ได้จากจับกุมรถบรรทุกน้ำเกินในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565-ปัจจุบันที่มีงบประมาณแล้วจำนวน 500,000 บาท

อย่างไรก็ตามจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีนี้  โดยถ้าจัดหากล้องได้แล้วจะนำมาใช้ในเส้นทางสายหลักที่มีสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินมากที่สุด และใช้ในส่วนกลาง ส่วน ทช. อยู่ระหว่างดำเนินการเบื้องต้นจัดหากล้องประมาณ 5-10 ตัว โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายในการดำเนินการ

เพิ่มเพื่อน