เคาะเก็บค่าโดยสาร 'สายสีเหลือง' 3 ก.ค.นี้

“รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” ให้บริการครบ 23 สถานี ช่วงลาดพร้าว – สำโรง “บีทีเอส” จ่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.นี้ คาดผู้โดยสารใช้บริการวันละ 2 แสนคน ลุ้นสายสีชมพูเปิดให้บริการบางส่วน พ.ย.นี้

20 มิ.ย.2566 – นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผย ว่าวันที่19 มิ.ย.นี้ เป็นวันแรกที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เปิดให้บริการครบ 23 สถานี บริษัทฯ ประเมินว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในรูปแบบเชิงพาณิชย์ (เก็บค่าโดยสาร)ในอัตรา15-45 บาทในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการยื่นขออนุมัติอัตราราคาค่าโดยสารตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว โดยประเมินว่าหากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จะมีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุดเฉลี่ย 2 แสนคนต่อวัน

สำหรับส่วนต่อขยายนั้นขึ้นอยู่กับว่า การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะพิจารณา​อย่างไร หากมองว่าทำเพื่อความสะดวกของประชาชนก็ควรทำ เพราะตอนนี้รถไฟฟ้าทุกสายพยายามเชื่อมต่อกัน ให้เป็นโครงข่ายสมบูรณ์​ที่สุด เช่นเดียวกับ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เข้าเมืองทองธานี ที่ทำเพื่อ อำนวยความสะดวกของผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเข้าเมืองทองธานีในช่วงที่มีงานปีละกว่า 20 ล้านคน

นายคีรี กล่าวต่อว่าส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดงานก่อสร้าง ยอมรับว่าโครงการล่าช้าออกไปจากปัญหาผลกระทบโควิด-19 และการส่งมอบพื้นที่ แต่ขณะนี้ประเมินว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทยอยเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่างๆ รวม 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายรวม 7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากต้นทุนแรงงาน และดอกเบี้ย

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) กล่าวว่า หากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปีแรกนี้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารสูงสุด 2 แสนคนต่อวันในช่วงประมาณปลายปี ซึ่งค่าโดยสารเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อคน ดังนั้นบริษัทฯ จึงประเมินรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปีนี้อยู่ที่ราว 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแผนจะจัดหาขบวนรถให้เสริมบริการในอนาคต โดยจะเพิ่มจากปัจจุบัน 1 ขบวน 4 ตู้ เป็น 1 ขบวน 7 ตู้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีระยะทางรวม 30.40 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง มีสถานีทั้งสิ้น 23 สถานี โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีลาดพร้าว บริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว แนวเส้นทางวิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าวจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นจะเบี่ยงไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีแยกลำสาลี บริเวณแยกลำสาลี

จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกต่างระดับพระรามเก้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก บริเวณแยกพัฒนาการ ที่สถานีหัวหมาก แนวเส้นทางวิ่งผ่านแยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา และเลี้ยวเข้าถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดเส้นทางที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง บริเวณแยกเทพารักษ์ โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ บริเวณสถานีศรีเอี่ยม สำหรับผู้ใช้รถยนต์สามารถนำรถมาจอดได้ที่อาคารจอดแล้วจรสถานีศรีเอี่ยม และที่อาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัย' ยืนยันวันนี้คมนาคมเตรียมคาดโทษผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

รัฐบาลยืนยันระบบเทคโนโลยี​ของรถไฟฟ้าได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจ ด้านคมนาคม เรียกบริษัทฯ ชี้แจงวันนี้