19 มิ.ย. 2566 – พุธที่แล้วผมเข้ารายการ ซีอีโอ วิชั่นพลัส FM96.5 ดําเนินรายการ โดยคุณศลินนา ภู่เอี่ยม และคุณวรพงษ์ แจ้งจิตต์ เพื่อตอบคำถามและให้ความเห็นเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น วันนี้จึงเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความเห็นของผมที่ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เขียนให้คิด” ทราบ รวมถึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่อาจเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา
การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศเราเป็นปัญหารุนแรงและมีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีการรับรู้การทุจริต(Corruption Perception Index) ของประเทศที่แย่ลงตลอดช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา ล่าสุดปีที่แล้ว คะแนนเราอยู่ที่ 36จากคะแนนเต็มร้อย เป็นอันดับ 101 จาก180 ประเทศทั่วโลก ความรุนแรงของคอร์รัปชั่นกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ บั่นทอนความเข้มแข็งของสถาบันหลัก เช่นระบบราชการ และเป็นภัยต่อการพัฒนาและความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย เป็นปัญหาที่คนทั้งประเทศต้องการให้แก้ไข
จึงน่ายินดีที่พรรคร่วมแปดพรรคได้บรรจุการแก้คอร์รัปชั่นเป็นนโยบายรัฐบาลลำดับที่เจ็ดในเอกสารเอ็มโอยูที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะทำ แต่การแก้คอร์รัปชั่นจะสำเร็จหรือไม่คงขึ้นอยู่กับสองปัจจัย หนึ่ง ความจริงใจของนักการเมืองที่จะแก้ปัญหา คือPolitical will สอง วิธีคิด ความเข้าใจ ยุทธศาสตร์ และเครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหา ที่ต้องจริงจังและตรงจุด
ในเรื่องนี้ อยากฝากข้อคิดสามข้อเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นและแนวทางแก้ไขที่ควรพิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นระบบ ตรงจุด และประสพความสำเร็จ
ข้อคิดแรก คอร์รัปชั่นไม่ว่ารุนแรงขนาดไหนเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ เพราะคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องพฤติกรรมคนในสังคมและพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนได้ ต้องการเพียงแต่ความจริงจังที่จะแก้ปัญหาและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและประชาชน ในเอเซียมีหลายประเทศที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงคล้ายกับเราและสามารถแก้ปัญหาได้ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทําในการแก้ปัญหาก็คล้ายกัน ชี้ว่าปัญหาคอร์รัปชั่นแก้ไขได้
ข้อคิดที่สอง คอร์รัปชั่นในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นคอร์รัปชั่นในภาครัฐคือเกี่ยวข้องกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ทั้งคอร์รัปชั่นระหว่างภาครัฐกับเอกชนและในหน่วยงานภาครัฐเอง และจากความรุนแรงของปัญหาที่มี ชัดเจนว่าคอร์รัปชั่นในภาครัฐไม่ใช่การทําผิดหรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นครั้งคราว แต่เป็นการทุจริตที่ทำกันอย่างเป็นระบบ ทําต่อเนื่อง แบ่งได้เป็น
หนึ่ง คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่นักการเมืองที่เป็นรัฐบาล นักธุรกิจ และ ข้าราชการประจํา ร่วมกันแก้ไขกฎระเบียบ สัญญา หรือ ออกนโยบาย สัมปทาน หรืออนุมัติการลงทุน ที่ไม่ถูกต้องตามสิ่งที่ควรเป็นและเหตุผลเพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการแผ่นดิน
สอง คอร์รัปชั่นที่มากับการปฏิบัติหน้าที่ในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การให้บริการประชาชน การขออนุญาตต่างๆ เป็นการหาประโยชน์โดยอาศัยอํานาจที่มากับตําแหน่งหน้าที่
สาม ระบบคอร์รัปชั่นหรือ Corruption systems ที่ถูกสร้างขึ้นในหน่วยราชการเพื่อเป็นเครื่องมือในการทุจริตคอร์รัปชั่น ทําเป็นเครือข่ายโดยข้าราชการในหน่วยงานที่ทุจริต ข้าราชการนอกหน่วยงานที่ร่วมมือ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ นักธุรกิจ และนักการเมืองที่ให้การคุ้มครอง เป็นรูปแบบคอร์รัปชั่นที่ทับซ้อนอยู่กับการทํางานปรกติของหน่วยงานราชการ เช่น ส่วยต่างๆ
ดังนั้น เมื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นมีหลากหลายประเภท มีการจัดตั้ง มีการทําอย่างเป็นระบบ การแก้ไขปัญหาด้วยเครื่องมือปรกติเช่น การสร้างความตระหนักรู้ การเปิดเผยข้อมูล การจับกุมเมื่อมีข่าว จะมีข้อจำกัดมากเพราะตามไม่ทันพัฒนาการของปัญหา ทําให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ข้อคิดที่สาม การแก้ไขปัญหาให้สำเร็จต้องมุ่งไปที่ลักษณะเฉพาะของแต่ละปัญหา แต่ละประเภท ด้วยการสร้างเงื่อนไขสร้างขั้นตอนไม่ให้การทุจริตคอร์รัปชั่นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายเพื่อลดแรงจูงใจ เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหา เช่นใช้ระบบออนไลน์ในการติดต่อราชการเพื่อลดการติดต่อแบบเจอหน้า(Face to Face) ใช้ดิจิตอลเทคโนโลยี่เช่น Big Data Blockchain Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ วิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อหาความผิดปรกติต่างๆ มีการบังคับใช้กฏหมายการปราบปรามลงโทษที่จริงจังเข็มแข็งไม่เว้นหน้า ระดมภาคธุรกิจ ภาคราชการ ภาคประชาชนให้ข้อมูลแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่นผ่านระบบออนไลน์ที่รัดกุมปลอดภัย และทําให้เกิดความโปร่งใสในทุกระดับการทํางานของภาครัฐ
นี่คือทางออก เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อให้การแก้คอร์รัปชั่นประสพความสำเร็จ เพราะคอร์รัปชั่นเกิดในที่มืด ไม่ชอบความสว่าง ไม่ชอบความโปร่งใส ไม่ชอบการตรวจสอบ แต่กลัวถูกจับลงโทษเพราะเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
ท้ายสุด ขอเสนอตัวอย่างมาตรการที่รัฐบาลใหม่อาจทําเพิ่มเติมเพื่อลดโอกาสลดแรงจูงใจที่จะเกิดคอร์รัปชั่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา แยกตามประเภทคอร์รัปชั่นดังนี้
หนึ่ง ลดโอกาสคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายโดย (1) ในการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อตัดสินใจ เช่น อนุมัติสัมปทานหรือโครงการลงทุน ควรมีขั้นตอนให้ต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในเรื่องที่เสนอ (Corruption Risk)ทําโดยคณะทํางานอิสระประกอบด้วยผู้มีความรู้จากภายนอกเพื่อเป็นข้อมูลให้คณะรัฐมนตรีรับทราบประกอบการพิจารณาตัดสินใจ (2) ออกระเบียบราชการกําหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ข้าราชการระดับสูงทั้งประจำ การเมือง และตุลาการ ที่จะไปรับตําแหน่งในบริษัทเอกชนหลังเกษียณอายุ หรือหลังหมดวาระหน้าที่ทางการเมือง เช่นไปเป็นกรรมการบริษัทหรือที่ปรึกษา ต้องเว้นวรรค เช่นอย่างน้อยสามปีก่อนไปรับตำแหน่งในภาคธุรกิจ เช่นเดียวกันบุคคลในภาคธุรกิจที่เข้ามารับตำแหน่งการเมืองเช่นเป็นรัฐมนตรี ต้องเว้นวรรคอย่างน้อยสามปีก่อนกลับไปทำงานในภาคเอกชน ทั้งหมดก็เพื่อลดความใกล้ชิดระหว่างการเมืองกับธุรกิจที่อาจมีผลต่อการกำหนดนโยบาย เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การใช้ข้อมูลภายใน และการทุจริตคอร์รัปชั่น (3) กําหนดให้มีการบันทึกเทปการประชุมนโยบายหรือการตัดสินใจสำคัญเช่นการประชุมครม เพื่อการตรวจสอบในภายหลังเมื่อจำเป็น เช่นตามคําสั่งศาลเป็นต้น
สอง ปรับปรุงกระบวนการทํางานของหน่วยราชการเพื่อลดความเสี่ยงการทุจริต โดย (1) ปรับระบบการติดต่อราชการเป็นแบบออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริต เช่น การขออนุญาต ขอใบอนุญาต การประเมินและเสียภาษี รวมถึงใช้ระบบคะแนน (point system)ในการอนุมัติคำร้องต่างๆแทนการใช้ดุลพินิจเพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ (2) ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ประมวลข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อหาความผิดปรกติในการประมูล และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผู้เข้าประมูลและเส้นทางการเงิน (3) จัดให้มีระบบหรือช่องทางพิเศษในการติดต่อราชการหรือขออนุมัติต่างๆอยู่ในส่วนกลางแบบ fast track ออนไลน์เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆสามารถใช้ติดต่อราชการในกรณีช่องทางปรกติในพื้นที่ตนมีความล่าช้าหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกให้จ่ายสินบน
สาม ป้องกันและปราบปรามระบบคอร์รัปชั่นในหน่วยราชการ โดยจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยใช้ระบบ QR codeหรือออนไลน์ที่รัดกุมปลอดภัย ให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถแจ้งได้ เก็บข้อมูลในระบบcloud ที่ไม่สามารถสืบได้ว่าใครเป็นผู้แจ้ง และใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือสกรีนความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับแจ้ง จากนั้นถ้าข้อมูลน่าเชื่อถือ ใช้ AI วิเคราะห์รูปแบบคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นและเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลนําไปสู่การปราบปรามจับกุมแบบครบวงจร
มาตรการเพิ่มเติมเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่แต่เป็นสิ่งที่ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศเพื่อแก้คอร์รัปชั่นและประสพความสำเร็จ ของบ้านเรายังมีน้อยและถ้านํามาใช้มากขึ้นและจริงจัง โอกาสที่ปัญหาคอร์รัปชั่นจะลดทอนได้ก็มีสูง เพราะพฤติกรรมคนจะเปลี่ยนจากระบบการตรวจสอบป้องกันจับกุมที่เปลี่ยนไปและมีประสิทธิภาพ
นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้
เขียนให้คิด
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล