คมนาคม สั่งจับตาสกัด“โอไมครอน”ยังไม่กระทบการเดินทาง ยืนยันยังคงมาตรการคุมเข้มการเดินทางตามหลักสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด ผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเฉลี่ยวันละ 4 พันคน
6 ธ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงสถานการหลังพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในต่างประเทศ ว่า สำหรับกระทรวงคมนาคมยังคงยึดมาตรการคุมเข้มการเดินทางตามหลักสาธารณะสุขในส่วนของการเดินทางผ่านสนามบินคงยังใช้วิธี RT-PCR เป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก ซึ่งขณะยังยังไม่พบผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ส่วนผู้โดยสารจากแอฟริกาที่เดินทางเข้าไทยจำนวน 252 ราย ได้สั่งการให้ผู้บริหารของสนามบินสุวรรณภูมิประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ดูข้อมูลเหล่านี้
“ที่มีการแถลงข่าวบอกว่ามีนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาเข้าไทย 700 กว่า แล้วมาบอกว่าเหลือ 200 กว่า ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งได้เช็ครายละเอียดไปยัง ตม.ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าเมืองว่านักนักท่องเที่ยวที่เดินทาง มาจากไหนบ้าง ขณะที่กระทรวงสาธารณะสุขได้ติดตามนักท่องเที่ยวยังคุมเข้มเหมือนเดิม และยังมี(Thailand Pass) ระบบลงทะเบียนเพื่อขอรับเอกสารรับรองการเดินทางเข้าประเทศแบบอิเล็กทรอนิกส์ การวัดอุณหภูมิ หลังจากนั้นทางโรงแรมที่นักก็มารับกลับโรงแรมและมีการตรวจ RT-PCR อีกครั้ง ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ตรวจเจอเชื้อ และจากที่ได้ติดตามข้อมูลข่าวจากต่างประเทศพบว่าโอไมครอนติดง่ายแต่ความรุนแรงน้อย ดังนั้นต้องฉีดวัคซีนให้ครบ รวมถึงสวมหน้ากากอนามัย”นายศักดิ์สยาม กล่าว
รายงานข่าวจากท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แจ้งว่าแม้ขณะนี้จะพบเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนแต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศของท่าอากาศยานในสังกัด ทอท.เพราะปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว เดือน พ.ย.2564 ผู้โดยสารอยู่ที่ 2.3 แสนคน โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 4 พันคน ส่วนเที่ยวบินเริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเดือน ธ.ค.2564 มีสายการบินยืนยันตารางการบิน (สล็อต) เพิ่มขึ้น 20%
สำหรับการเดินทางภายในประเทศนั้น พบว่า ปริมาณการเดินทางค่อนข้างสูงมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย. ที่ผ่านมาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีผู้โดยสารภายในประเทศ รวม 1.94 ล้านคน โดยเริ่มเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ย.2564 ซึ่งวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารสูงสุดประมาณ 8.7 หมื่นคน ทั้งนี้คาดว่าภายใน 3-4 เดือนหลังจากนี้ ผู้โดยสารภายในประเทศน่าจะกลับมาใกล้เคียงกับจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ 2 แสนคน