พาณิชย์ส่งสัญญาณ สถานการณ์เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย หลังเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
6 มิ.ย. 2566 – นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2566 สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง นอกจากนี้ มาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม ชะลอตัวค่อนข้างมาก
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า การชะลอตัวอย่างชัดเจนของเงินเฟ้อเป็นไปตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.83 (YoY) โดยเฉพาะราคาพลังงาน ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แม้จะสูงขึ้นร้อยละ 3.99 (YoY) แต่เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่สินค้าบางรายการราคาเริ่มปรับลดลง อาทิ เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.55 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.66 (YoY) ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.96 (AoA)
ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2566) ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือมีโอกาสหดตัวได้ ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า รวมถึงฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
นายบุณย์ธีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ปริมาณสินค้ามีเพียงพอ ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ราคาอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ต่ำกว่าเกณฑ์โครงสร้างราคา ปัจจุบันมีเพียงบางสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้สินค้ามีน้อยซึ่งคาดว่าราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเมืองในประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อราคาสินค้าและบริการ และค่าครองชีพของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น ภายใต้ความไม่แน่นอนนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"