“บีทีเอส” เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เที่ยวปฐมฤกษ์ 9 โมงเช้า 3 มิ.ย.นี้ ประชาชนนั่งฟรี 30 วัน ก่อนเล็งจัดเก็บค่าโดยสารเริ่ม 15 – 45 บาท พร้อมเปิดช่องเจรจา รฟม.สร้างส่วนต่อขยายเชื่อมสถานีรัชโยธิน
1 มิ.ย. 2566 – นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BTSC) เปิดเผยว่า หลังการหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เมื่องวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปร่วมกันถึงกำหนดการเปิดให้ประชาชนทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่ 3 มิ.ย..นี้
อย่างไรก็ตามโดยเบื้องต้นบีทีเอสได้เตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการขบวนรถเที่ยวแรก หรือรอบปฐมฤกษ์ ในเวลาประมาณ 9.00 น. หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการตลอดทั้งวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ที่จะมีการัจดเก็บค่าโดยสารในช่วงประมาณวันที่ 1 – 3 ก.ค.2566 เนื่องจากปัจจุบันบีทีเอสได้ยื่นขออนุมัติอัตราราคาที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ไปยัง รฟม.พิจารณาแล้ว
“บีทีเอสมีความพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบระบบ ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เพราะขณะนี้โครงการมีความพร้อมด้านความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ซึ่งการเปิดเดินรถจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนลาดพร้าว โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี”นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่กรณีของการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญาทางบีทีเอสจะต้องคำนวณราคาจากดัชนี CPI 3 เดือนก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบีทีเอสได้ประเมินอัตราราคาจัดเก็บเริ่มต้นที่ 15 – 45 บาท และเสนอไปยัง รฟม.เพื่อนำเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณา ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป โดยคาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นจึงจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อีกทั้งหลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบีทีเอสสามารถดำเนินการจนผ่านประเมินแล้ว ภายใน 45 วัน ตามสัญญาทาง รฟม.จะต้องจ่ายชดเชยค่างานโยธาหลังจากกำหนดไว้ในงวดแรก และทยอยจ่ายจนครบจำนวนในระยะเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ส่งผลให้ในปีนี้บีทีเอสเริ่มรับรู้รายได้จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งก่อนหน้านี้บีทีเอสเคยประเมินว่าปี 2566 จะมีรายได้จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ที่จะทยอยเปิดบริการเดือน มิ.ย.นี้ รวมปีละ 2,000 ล้านบาท ดังนั้นหากเปิดให้บริการกลางปีนี้ จะสร้างรายได้รวม 1,000 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของบีทีเอสที่จะลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แม้ว่าตามเงื่อนไขสัญญาจะระบุไว้ว่าหากเปิดให้บริการส่วนหลักของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ข้อเสนอก่อสร้างส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดลงนั้น แต่บีทีเอสยืนยันว่าโครงการส่วนต่อขยายเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า ดังนั้นหาก รฟม.เห็นพร้อมกัน บีทีเอสก็พร้อมที่จะเจรจาหลังจากนี้
“ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเราเสนอจะลงทุนให้ 100% ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หาก รมฟ.จะเจรจาก็ยินดี แต่หากจะมีการเจรจาหลังจากนี้ไปอีก 5 ปี ก็จะทำให้สัญญาเดินรถลดลงไปอีก จาก 30 ปี ก็จะเหลือ 25 ปี ซึ่งอาจทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้นคงต้องเจรจารายละเอียดเพิ่มเติมหลังจากนี้ แต่ในแง่ของประชาชนเกิดประโยชน์แน่นอน”นายสุรพงษ์ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 พัฒนาเป็นระบบไฟฟ้ารางเดี่ยว Monorail ในรูป Public Private Partnership (PPP Net Cost) โดยภาครัฐ (รฟม.) ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่างานโยธา ระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้ารวมทั้งบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา
อย่างไรก็ตามโดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน อันได้แก่ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี และอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการและกรอบวงเงินสนับสนุนแก่เอกชนเป็นเงินสนับสนุนค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 22,354 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มให้บริการเดินรถแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี กำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รถไฟฟ้าสาย ‘สีเหลือง’ ผุดโปรฯเหมาจ่าย250บาท / สัปดาห์
รายงานข่าวจากประชาสัมพันธ์ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
'ชัย' ยืนยันวันนี้คมนาคมเตรียมคาดโทษผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
รัฐบาลยืนยันระบบเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจ ด้านคมนาคม เรียกบริษัทฯ ชี้แจงวันนี้