“คลัง” เข็นอัดฉีดสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท อุ้มอุตสาหกรรมยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หวังช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ด้านเอกชนลุ้นปี 2566 ส่งออกยางพาราโตแจ่ม 5% ชูตลาดตะวันออกกลางมาแรง
31 พ.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขยายความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE) ระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC), การยางแห่งประเทศไทย (กยท.), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง, บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ว่า โครงการดังกล่าวเพื่อยกระดับซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยางพาราให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมากขึ้น
โดยปัจจุบันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 6.8 แสนล้านบาทต่อปี ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 ล้านคน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง ครอบคลุมพื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่ จนถึงกลางน้ำ อาทิ โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแห้ง โรงงานแปรรูปไม้ยาง และปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้างและงานวิศวกรรม สายพาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง วัสดุก่อสร้าง ของเล่น ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางอื่น ๆ สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย
“เป้าหมายของโครงการ ได้แก่ การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง การผลักดันสินค้าและการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) การเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและมูลค่าการส่งออกของไทย การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการบริหารการเงิน ความรู้ด้านการส่งออก และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการเป็นต้นแบบการบูรณาการความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า การลงนามขยายความร่วมมือการดำเนินโครงการครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมยางพาราไทย เป็นวงเงินจำนวน 2 พันล้านบาทในปี 2566 เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็น ตลอดจนขยายโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก ทำให้ยางพาราไทยมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วและเป็นสมาชิกของ กยท. ประมาณ 1.8 ล้านราย, สถาบันเกษตร สหกรณ์ 1.2 พันราย และผู้ประกอบการภาคเอกชนอีกราว 200-300 ราย ขณะที่ภาพรวมการผลิตยางพาราในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตัน ในส่วนนี้มีการส่งออกราว 3.3 ล้านตันเศษ ที่เหลือเป็นการใช้ภายในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าภาพรวมการส่งออกยางพาราในปี 2566 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 5% จากปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น ขณะที่ผลผลิตลดลง ดังนั้นทำให้สามารถเพิ่มราคาได้ ขณะเดียวกันแนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดใหม่ โดยเฉพาะตะวันออกกลางมีแนวโน้มที่ดี ส่วนตลาดส่งออกหลักอย่างจีน ยุโรป และสหรัฐฯ อาจจะชะลอตัวบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดแล้วการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราโตได้ ไม่ติดลบแน่นอน ไม่ได้วิกฤติเหมือนการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ รวมถึงสิ่งทอ