ครม.รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ 61.30% ชี้ผลพวงหลักมาจากภัยโควิด ระบุความน่าเชื่อของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ภาคการคลังสาธารณะยังคงแข็งแกร่ง
31 พ.ค.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ได้รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ 31 มีนาคม 2566 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตาม มาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกําหนดไว้
ทั้งนี้มีรายละเอียดว่า 1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กรอบที่คณะกรรมการกำหนดไม่เกิน 70% สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง 61.30% โดยเป็นหนี้สาธรณะ 10,797,505.46 ล้านบาท และGDP 17,615,169.00 ล้านบาท
2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกิน 35% สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง 30.91% ประกอบด้วยภาระหนี้รัฐบาล 805,677.79 ล้านบาท และประมาณการรายได้ประจำปีประมาณ 2,606,589.21 ล้านบาท
3.สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกิน 10% สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง 1.63% ประกอบด้วยหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 175,590.96 ล้านบาท และหนี้สาธารณะทั้งหมด 10,797,505.46 ล้านบาท
4.สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกิน 5% สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง 0.05% ประกอบด้วยภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 5,943.86 ล้านบาท และรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ 11,882,174.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในภาวะปกติ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน โดยกว่า 75% ของเงินกู้เป็นการกู้เพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ การคมนาคมขนส่ง พลังงาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษา และที่อยู่อาศัย โดยหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 อยู่ที่ 41.06% ต่อ GDP และเมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนและทุกภาคส่วนตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐบาลทั่วโลก ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 61.30%
ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกทั้งหนี้กว่า 98% เป็นหนี้สกุลเงินบาทจึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ รัฐบาลได้ชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนดเมื่ออัตราดอกเบี้ยเหมาะสม รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดความเสี่ยงด้านการอัตราดอกเบี้ย โดยหากอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางปรับตัวลดลง ก็ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของหนี้สาธารณะ รวมถึงสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทรวงการคลังได้ทำการแปลงหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวให้เป็นดอกเบี้ยคงที่ ทำให้หนี้กว่า 85% เป็นหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการชำระหนี้โดยได้เพิ่มงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย อีกทั้งยังได้เร่งการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และเมื่อรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถนำมาชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น”
นายอนุชากล่าวอีกว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากลยังคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยเชื่อมั่นว่าภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และรัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้ ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง (Fitch Ratings) มองสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการคลังภายหลังจากการเลือกตั้ง อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้น เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของประเทศ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2567 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากจากการดำเนินมาตรการตามนโยบายในช่วงหาเสียง และความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"
1พ.ย.นายกฯอิ๊งค์ลงร้อยเอ็ดตามติดนโยบายปราบยาเสพติด
โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯเร่งแก้ปัญหายาเสพติด เตรียมบินร้อยเอ็ด 1 พ.ย. ตรวจการป้องกันและปราบปรามตามนโยบายรัฐบาล
นายกฯ ปลื้มยอดผู้โดยสารใช้บริการสนามบินเกือบ 120 ล้านคน
นายกฯ ปลื้มยอดผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่ง เกือบ 120 ล้านคนในปีงบประมาณ 2567 พร้อมเปิดใช้งานเช็กอินระบบ Biometric นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อนเริ่ม 1 พ.ย.นี้
โฆษกรบ. โชว์สินค้าเกษตรของไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 อาเซียน
โฆษกรบ. เผย สินค้าเกษตรขึ้นแท่นที่ 1 อาเซียน ติดอันดับ 8 ของโลก หลัง 8 เดือน ส่งออกพุ่ง4.3แสนล้านบาท นายกฯสั่ง เร่งลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ดันติด Top5 โลกให้ได้ต้นปีหน้า
'พิชัย' ติง 'ผู้ว่าฯธปท' จ้อสื่อนอกไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ย ห่วงคนเทรดเงินได้ประโยชน์
'พิชัย'ติง 'ผู้ว่าฯธปท' จ้อสื่อนอก ปมไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ห่วงคนเทรดเงินได้ประโยชน์ เผย เตรียมถกกรอบนโยบายเงินเฟ้ออีกไม่กี่วันนี้
จับตา GDP เกษตร Q3 หดตัวร้อยละ 0.7 จากปรากฏการณ์ เอลนีโญ-ลานีญา สศก. หั่นเป้าทั้งปี GDP เกษตรไทย
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม - กันยายน 2567)