ส่งออก เม.ย. 66 ลด 7.6% ลบต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผยสินค้าอุตสาหกรรมลด 11.2% สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 8.2% รวมยอด 4 เดือนลบ 5.2% คาดเดือนต่อไปยังลด เหตุคู่ค้าสต๊อกสูง แต่จะเริ่มดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ชี้เศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อสูง ปัญหาสถาบันการเงิน ยังเป็นตัวกดดัน เผยตลาดจีน เริ่มดีขึ้น ภัยแล้งหนุนส่งออกสินค้าเกษตร มั่นใจทั้งปีโตได้ 1-2%
30 พ.ค. 2566 – นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และฐานปีก่อนที่สูงมาก และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 737,788.3 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,195.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.3% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 797,372.7 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 59,584.5 ล้านบาท รวมส่งออก 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 92,002.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,110,977.2 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,305,763.2 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 4,516.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 194,786.0 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนเม.ย.2566 ลดลง 11.2% หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง เป็นต้น
ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 8.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ข้าว เครื่องดื่ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋องและผักแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง
ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่กลับมาหดตัว โดยตลาดหลัก ลด 6.2% จากการลดลงของตลาดสหรัฐฯ 9.6% ญี่ปุ่น 8.1% อาเซียน (5 ประเทศ) 17.7% CLMV 17% และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 8.2% แต่ตลาดจีนกลับมาขยายตัว 23% ตลาดรอง ลด 14.9% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.9% ตะวันออกกลาง 16.7% แอฟริกา 26.9% ลาตินอเมริกา 9.4% แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS 155.4% และสหราชอาณาจักร 49% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 72.2% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 77.9%
ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือนเม.ย.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 149,810 ล้านบาท เพิ่ม 14.2% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่ม 22.3% และนำเข้า มูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่ม 3.57% โดยส่งออกชายแดน ไปสปป.ลาว เพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปมาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์และเวียดนาม เพิ่มขึ้นทุกตลาด
นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเดือนต่อไป คาดว่า จะยังติดลบอยู่ เนื่องจากสต๊อกสินค้าของประเทศคู่ค้ายังมีอยู่ ทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า แต่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนปัจจัยที่กดดันการส่งออก ยังคงเป็นเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดต่อไป และยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้ และกระทรวงพาณิชย์ยังเป้าการส่งออกทั้งปีไว้ที่ขยายตัว 1-2%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน เม.ย.2566 ที่ลดลง 7.6% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.4% พ.ย.2565 ลด 6% ธ.ค.2565 ลด 14.6% ม.ค.2566 ลด 4.5% ก.พ.2566 ลด 4.7% มี.ค.ลด 4.2%