“คลัง” ฟุ้งจัดเก็บรายได้ 7 เดือน ปีงบประมาณ 2566 เกินกว่าเป้าหมาย 8.9% มั่นใจทั้งปีผลงานฉลุย แจงมาตรการอุ้มราคาน้ำมันคุมเงินเฟ้ออยู่ มองทั้งปีกดเหลือไม่เกิน 3% ด้าน “ธนาคารโลก” แนะปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า หนุนขึ้น VAT – ขยายการจัดเก็บภาษีที่ดิน – ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา – ลดเงื่อนไขการลดหย่อน ช่วยปั้มรายได้ภาครัฐรองรับการเติบโตระยะยาว
30 พ.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศาในงานเปิดตัวรายงานเรื่อง “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” จัดโดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ พบวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยในภาวะที่ยากลำบากดังกล่าว ต้องยอมรับว่ารายได้ของภาครัฐก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน มีผลสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นจะต้องมีมาตรการผ่อนปรนทางด้านภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับรายบุคคลและภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นปัญหากับรายได้ของรัฐบาลในช่วงปี 2563-2564
ทั้งนี้ ในภาวะที่ยากลำบากดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องรับมือกับการป้องกันโควิด-19 ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไป ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะยืดเยื้อนานแค่ไหน การบริหารจัดการทั้งหมดจึงค่อนข้างลำบาก เพราะต้องรับมือกับทั้ง 2 ส่วน แต่ก็เป็นสิ่งที่โชคดีว่าประชากรส่วนมากของไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และรัฐบาลได้เริ่มกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง รวมถึงมีการดึงเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้
โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ภาคธุรกิจและรายได้ของรัฐบาลเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การจัดเก็บรายได้มีการฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2565 และคิดว่าในปีงบประมาณ 2566 ภาพรวมการจัดเก็บรายได้จะดีขึ้นกว่าช่วงโควิด-19 อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็ตาม โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย. 66) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% ทำให้มั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 จะทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
นายอาคม กล่าวอีกว่า หลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึงในระยะถัดไป คือ การเพิ่มสวัสดิการให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมการลงทุนในอนาคต โดยกระทรวงการคลังจะต้องผลักดันนโยบายการคลังเชิงรุก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเดินหน้านโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไป และบริการจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มข้นมากขึ้น ประสานนโยบายให้ทั่วถึง
นอกจากนี้ มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งพิจารณา คือ ราคาพลังงานที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้วางมาตรการช่วยเหลือที่ตรงเป้า ผ่านการอุดหนุนเงินในวงกว้าง แต่ต้องยอมรับว่าการอุดหนุนใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ แต่ก็สามารถรักษาระดับราคาขายและรักษาอัตราเงินเฟ้อได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ คาดว่าในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 3% อย่างแน่นอน ส่วนในอนาคตนโยบายการอุดหนุนต่าง ๆ จะต้องถอนตัวออกมา เพราะในระยะปานกลางรัฐบาลมุ่งหวังที่จะใช้นโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัด โดยได้มีการกลับมาทบทวนและวางกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง ปี 2567-2570 โดยในปี 2567 ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 3% และลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่คาดว่าจะลดลงจาก 61.78% ในปี 2568 เป็น 61.25% ในปี 2570 และตามรายงานของธนาคารโลกที่นำเสนอเรื่องการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า เมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐให้ดีขึ้นราว 3.5%
นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการคลังของประเทศไทยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
ซึ่งในระยะยาว การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ผ่านการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า อาทิ การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่าง ๆ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปฎิรูปด้านภาษีมีผลต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถรับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้นด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 2.4%
ธนาคารโลก (World Bank) คงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4% เร่งตัวขึ้นจาก 1.9% ในปี 66
'เวิลด์แบงก์' หั่นจีดีพีไทยเหลือ 2.4% เหตุเติบโตช้า
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ธน
ปชป. ซัดรัฐบาล 'เศรษฐา' หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น
“ชนินทร์” ปชป. ซัดรัฐบาล “เศรษฐา” หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น ประจานไร้น้ำยา และจริยธรรม เหตุประมาณการ GDP ถูกปรับลด เตือนรากหญ้าตาย รายใหญ่ไปไม่รอด ประเทศหายนะ
นายกฯ ถก World Bank ย้ำไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพ 2026 Annual Meetings
ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางมานูเอลา เฟอร์โร (Ms. Manuella Ferro) รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก