คลังแจงเหตุกทม.มีรายได้เก็บภาษีที่ดินลดลง

กรุงเทพมหานครมีรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เคยจัดเก็บได้

30 พ.ค. 2566 – นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวจากสื่อหลาย ๆ แห่งว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) ได้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภาษีโรงเรือนฯ) ที่กรุงเทพมหานครเคยจัดเก็บได้ในอดีต และพบว่าผู้ที่มีรายได้มาก เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ห้องเช่า เป็นต้น เสียภาษีที่ดินฯ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีโรงเรือนฯ นั้น

โฆษก สศค. ขอเรียนอธิบายความเป็นมาและสถิติการจัดเก็บรายได้เกี่ยวกับภาษีที่ดินฯ ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเท็จจริงในส่วนของกรุงเทพมหานคร ดังนี้

1.ในช่วงก่อนปี 2563 ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบภาษีโรงเรือนฯ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยภาษีโรงเรือนฯ ใช้ค่ารายปี (จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ) เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ และทำให้เกิดปัญหาในการประเมินค่ารายปี และมีการจัดเก็บภาษีในอัตราคงที่ที่สูงถึงร้อยละ 12.5 ของค่ารายปีสำหรับภาษีบำรุงท้องที่จะใช้ราคาปานกลางของที่ดินตามที่คณะกรรมการพิจารณาราคาปานกลางของที่ดินกำหนดประจำปี พ.ศ. 2521 – 2524 มาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ และมีอัตราภาษีมากถึง 34 ขั้น

ภาษีที่ดินฯ จึงถูกนำมาใช้แทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน โดยภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีฐานทรัพย์สิน มีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่พิจารณาจากความมั่งคั่งที่สะสมไว้ของบุคคลในรูปที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดเก็บจากเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ ตามควรแก่สภาพก็จะถูกจัดเก็บภาษีด้วย การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จึงทำให้ผู้เสียภาษีที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำ และกรณีผู้เสียภาษีที่มีทรัพย์สินในลักษณะเดียวกัน ขนาดเท่ากัน และมีการใช้ประโยชน์เหมือนกันก็จะมีภาระภาษีเท่ากัน จึงเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม

2.ในปี 2563 – 2565 ช่วงระยะ 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มีการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ได้แก่ การยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) และการบรรเทาการชำระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีภาระภาษีที่ดินฯ สูงกว่าภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 (ค่าภาษีปี 2562) โดยให้ชำระภาษีที่ดินฯ เท่ากับค่าภาษี ปี 2562 บวกด้วยร้อยละ 25 50 และ 75 ของส่วนต่างของค่าภาษีปี 2562 กับค่าภาษีที่ดินฯ ในปี 2563 2564 และ 2565 รวมถึงในปี 2563 – 2564 มีการลดภาษีร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาภาระและผลกระทบให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

3.ในส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ กทม. พบว่า ข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งยังคงมีการบรรเทาภาระภาษีตามข้อ 2 กทม. มีรายได้ภาษีที่ดินฯ จำนวนประมาณ 1,256 ล้านบาท 1,802 ล้านบาท และ 12,347 ล้านบาท ตามลำดับ (ข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2565) โดยมีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาษีที่สูงขึ้นและใกล้เคียงกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ที่ กทม. จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวนประมาณ 15,300 ล้านบาท

4.ในระยะต่อไปคาดว่า กทม. จะมีรายได้ภาษีที่ดินฯ เพิ่มขึ้นจากฐานภาษีที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีจะมีการปรับปรุงทุก ๆ 4 ปี โดยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประกอบกับ กทม. ยังสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จากผู้เสียภาษีที่แต่เดิมเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไม่เคยมาแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่า กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขต กทม. ดังนั้น หาก กทม. สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเขต กทม. และมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว จะสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้เพิ่มขึ้น

5.นอกจากนี้ หาก กทม. ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ครบถ้วนแล้ว และยังต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มาตรา 37 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ได้ ทั้งนี้ อัตราภาษีดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ

ทั้งนี้ โฆษก สศค. เน้นย้ำว่า กรณีการนำภาระภาษีโรงเรือนฯ และภาษีที่ดินฯ ของผู้เสียภาษีรายใดรายหนึ่งมาเปรียบเทียบกันนั้น จะยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงภาระภาษีทั้งหมด เนื่องจากภาษีแต่ละประเภทมีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน โดยกรณีผู้เสียภาษีมีเงินได้จากการทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น ให้เช่า ประกอบกิจการค้าขาย เป็นต้น จะต้องนำรายได้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณีด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อนุทิน’ สั่ง กทม.เร่งสอบที่มาป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ตและสัญชาติ ย่านห้วยขวาง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้ทราบถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เปิดเผยและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงกรณีมีการติดตั้งป้ายโฆษณาภาษาจีน

MEA มอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กให้แก่โรงเรียนวัดบางปะกอก จากกิจกรรมวิ่งการกุศล Better Bangkok Run 2024 พร้อมตรวจสอบระบบไฟฟ้าตู้น้ำดื่มเสริมความปลอดภัยภายในสถานศึกษา

วันนี้ (17 กรกฎาคม 2567) นายสมบัติ จันทร์กระจ่าง รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา

ชัชชาติ ลุยกินเมนูปลาหมอคางดำ แนะคนกรุงจับมาทำอาหาร สั่งห้ามเลี้ยง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยเขียนแคปชั่นระบุว่า “เมนู ปลาหมอคางดำ” เผยภาพครัวที่กำลังทำอาหารเมนูปลาหมอคางดำ

ร่องมรสุมพาดผ่าน ‘กรมอุตุฯ’ เตือน 60 จังหวัด ฝนตกหนัก ‘กทม.’ ร้อยละ 70 ของพื้นที่

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง