'บิ๊กตู่' สั่ง 'คลัง-พลังงาน' หามาตรการรับมือเลิกอุ้มดีเซล

29 พ.ค. 2566 – น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจ ต่อกรณีที่ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 66 โดยมีความกังวลว่าระยะเวลาดังกล่าวอาจจะยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศและติดสินใจเกี่ยวกับมาตรการ จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร จนกระทบต่อค่าครองชีพและเศรษฐกิจในภาพรวม นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล โดยมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลครั้งล่าสุด (ครั้งที่7) ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการเพิ่งเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 66 หรือเหลือเวลาอีก 2 เดือน ถึงจะสิ้นสุดมาตรการ ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาแนวทางต่างๆ มารองรับเพื่อให้ผลกระทบเกิดกับประชาชนน้อยที่สุด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าตามความเหมาะสมแล้วมาตรการที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ หรือทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมีนัยสำคัญนั้น ควรต้องให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณา แต่รัฐบาลรักษาการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องดูสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาว่าควรต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อสามารถดูแลผลกระทบให้เกิดกับประชาชนน้อยที่สุด ไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และเป็นไปตามกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแนวทางรองรับกับมาตรการที่จะสิ้นสุดในปลายเดือน ก.ค. โดยให้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ประกอบกัน เช่น สถานการณ์และแนวโน้มราคาน้ำมันโลก ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบาย แนวทางไหนดำเนินการได้โดยอำนาจของหน่วยงาน หรือส่วนใดที่ต้องหารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้จัดทำแนวทางเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' แค่พยักหน้า ปม รพ.ตร. ไม่ยอมส่งเวชระเบียน 'พ่อนายกฯ' ให้ ป.ป.ช.

'นายกฯอิ๊งค์' ปฏิเสธตอบคำถาม ปม รพ.ตำรวจ ไม่ส่งเวชระเบียนรักษาตัว 'ทักษิณ' หลัง ‘ป.ป.ช.’ ทวงแล้ว 3 ครั้ง ทำแค่พยักหน้ารับทราบ

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"