พาณิชย์เร่งติดตาม FTA ไทย-ชิลี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลการประชุมติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี เห็นพ้องเร่งปรับโอนพิกัดศุลกากรจากระบบ HS2012 เป็น HS2022 การใช้ระบบลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ผลักดันร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบุ 8 ปีที่ FTA บังคับใช้ การค้าสองฝ่ายเพิ่มมากกว่า 40%

24 พ.ค. 2566 -นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรีไทย-ชิลี (FTC) ครั้งที่ 4 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (Thailand-Chile Free Trade Agreement : TCFTA) ในฐานะประธานร่วมฝ่ายไทย กับนายปาโบล เออร์เรียร์ ผู้แทนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี เป็นประธานร่วมฝ่ายชิลี โดยที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 โดยเห็นตรงกันว่า FTA ฉบับนี้ มีประโยชน์กับผู้ประกอบการของไทยและชิลีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายมูลค่าการค้าของสองฝ่าย จากเดิมที่มีมูลค่าการค้า 894.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 1,289.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40%

นายรัชวิชญ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้พันธกรณีของ TCFTA โดยไทยและชิลีอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (PSRs) จากระบบ HS2012 เป็น HS2022 เพื่อให้สอดคล้องกับพิกัดสินค้าที่ใช้ในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการใช้ลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal : ESS) สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งแนวทางการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบไฟล์ PDF เพื่อให้ผู้นำเข้าสามารถพิมพ์และจัดส่งให้กับหน่วยงานด้านศุลกากรประกอบพิธีการออกสินค้าเมื่อไปถึงท่าเรือปลายทาง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ

ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะร่วมกันผลักดันประเด็นด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในรายการสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อมูลสถิติการค้าและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TCFTA เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และร่วมกันพัฒนาความตกลงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลง TCFTA ไทยและชิลียังได้เริ่มบังคับใช้จรรยาบรรณในการระงับข้อพิพาท (Code of Conduct) ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมกฎเกณฑ์ในกระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลงดังกล่าวให้มีความชัดเจนและเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทั้งสองฝ่ายจะยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับชิลี มีมูลค่า 1,289.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.50% โดยไทยส่งออกไปชิลีมูลค่า 531.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15.19% และไทยนำเข้าสินค้าจากชิลีมูลค่า 758.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.50% ซึ่งการส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TCFTA มีสัดส่วนสูงถึง 114.79% เพิ่มขึ้น 4.02% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถบรรทุก รถยนต์ ปลาทูน่า เครื่องซักผ้า เครื่องเพชรพลอย สำหรับการนำเข้าภายใต้ TCFTA ของไทย มีสัดส่วน 87.82% เพิ่มขึ้น 2.17% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แอปริคอต เชอร์รี ท้อ ไวน์ ไขมันและน้ำมันจากปลา กุ้งและปู และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา อัตราภาษีของสองประเทศภายใต้ความตกลงฯ ได้ลดลงเป็นศูนย์หมดทุกรายการแล้ว จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่จะขยายการค้าและสร้างความได้เปรียบในการนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตร่วมกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ใช้เบอร์ 02 ลวงเหยื่อกว่าหมื่นเลขหมาย

พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก

พาณิชย์ชี้สินค้าขนมบูมดันส่งออกโต 4%

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้ากลุ่มอาหารว่างและของทานเล่น อาทิ เบเกอรี่ ขนมอบ ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว และขนมหวาน ถือเป็นสินค้าดาวเด่นที่น่าจับตามอง เพราะตลาดเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2567)

‘สุชาติ’ มอบนโยบาย ‘กรมเจรจาฯ’ เร่งดันผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA ลุยเจรจาปิดดีลกับคู่ค้า หนุนตั้งกองทุน FTA ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมมอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน ว่า

ต่างชาติขนเงินลงทุนในไทย 3.5 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นยังเป็นอันดับ 1

พาณิชย์โชว์ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทย 35,902 ล้านบาท ญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 19,006 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 3,294 ล้านบาท และฝรั่งเศส 3,236 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 849 คน