กสิกรฯคาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00%

การประชุม กนง. วันที่ 31 พ.ค. 66 คาด กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ซึ่งอาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรนี้ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

24 พ.ค. 2566 – ในการประชุม กนง. วันที่ 31 พ.ค. ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ จากการประชุม กนง. ครั้งก่อน กนง. ได้ส่งสัญญาณว่า กนง. อาจยังไม่หยุดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจคาอยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภครวมถึงแนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุม กนง. วันที่ 31 พ.ค. นี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจากประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ขณะที่แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง เนื่องจากธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเริ่มส่งสัญญาณอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ส่งผลให้ กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้

ขณะที่ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.00% ไปตลอดปี 2566 หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญความผันผวน ทั้งนี้ ทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าคาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับปัจจัยหนุนหากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อต่างจากที่ตลาดส่วนใหญ่คาด ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นคงจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4

กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้