”กรมราง”เร่งศึกษาการกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบรางต้องเท่าเทียม ลุ้นพ.ร.บ.ขนส่งทางรางผ่านสภาผู้แทนราษฎร ชี้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกตามนโยบายรัฐบาลใหม่ทำได้จริง เล็งใช้บังคับสายใหม่ทันทีหลังเกิดกฎหมายขนส่งทางราง
24 พ.ค. 2566 – นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม
อย่างไรก็ตามการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางนั้นอยู่ในร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. …. ดังนั้นจึงต้องเสนอพ.ร.บ. ขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในรัฐบาลชุดใหม่ภายใน 60 วันหลังจากตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. ขนส่งทางราง ซึ่งหากเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก็จะเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่3 ได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 แล้ว
“หากรัฐบาลใหม่ไม่มีข้อให้แก้ไขอะไรก็คาดว่า พ.ร.บ. ขนส่งทางรางจะสามารถออกประกาศและมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ดังนั้นการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางก็จะสามารถทยอยประกษสบังคับใช้ได้ทันทีไม่ต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จในเดือนก.พ.2567 ซึ่งจะนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ…. มีผลบังคับใช้ ”นายพิเชฐ กล่าว
สำหรับผลการศึกษาครั้งนี้จะนำไปบังคับใช้กับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก), รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม), รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ, รถไฟฟ้าสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการต่อสัมปทานให้กับเอกชน และรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)
นายพิเชฐ กล่าวถึงกรณีการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองต่าง ใช้เรื่องการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นแคมเปญในการหาเสียงมากมาย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และรถไฟฟ้า 50 บาทตลอดวัน ซึ่งเป็นการคิดค่าโดยสารรูปแบบราคาเดียว นอกจากนี้บางพรรคยังมีนโยบายรถไฟฟ้าราคาเดียวทั้งสาย 15-45 บาท
อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้การคิดค่าโดยสารในรูปแบบใด โดย ขร. ได้ศึกษาและเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าโดยสารในรูปแบบต่างๆ ไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อเสนอรัฐบาลในการใช้ประกอบการดำเนินนโยบาย อาทิ จำนวนผู้มีรายได้น้อยที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า, จำนวนผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ และวงเงินที่จะใช้อุดหนุน เป็นต้น
ทั้งนี้ยืนยันว่านโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงไว้นั้นสามารถทำได้จริง แต่ต้องดูรายละเอียดของนโยบายที่หาเสียงไว้อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร จะใช้กับทุกคน หรือเฉพาะกลุ่ม และใช้ระยะเวลานานเท่าใด โดยปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ และรถไฟฟ้าในวันจันทร์-ศุกร์ อยู่ที่ประมาณวันละ 1.3 ล้านคน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ อยู่ที่ประมาณวันละ 8.9 แสนคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมรางเผย เคานท์ดาวน์ปีใหม่ ประชาชนใช้บริการระบบรางพุ่ง1.51 ล้าน
'กรมราง'เปิดตัวเลขฉลองเคานท์ดาวน์ปีใหม่ 68 มีผู้ใช้บริการระบบราง รวม 1,515,396 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากเทศกาลปีใหม่ ปี67 ถึง 11.95 %โดยมีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟรวม 3 ครั้ง