3 ธ.ค.2564 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของ สศช. และทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 โดยมีความคืบหน้าและแนวทางการดําเนินการที่สําคัญ ดังนี้ 1. การกําหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สําหรับผู้พํานักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) โดยกระทรวงมหาดไทย เสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้ คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่คนต่างด้าวใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทํางานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุม คุณสมบัติและแนวทางการยื่นคําขอรับรองคุณสมบัติและคําขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท LTR ที่สําคัญ
อาทิ (1) วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี และ ยื่นคําขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จํากัดจํานวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร โดยรวม ถึงคนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย(อายุไม่เกิน 20 ปี) จํานวนไม่เกิน 4 คน (2) กําหนดให้แจ้งที่พํานักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพํานักครบ 1 ปี (จากเดิมที่ต้องดําเนินการทุกรอบ 90 วัน) (3) ได้รับอนุญาตให้ทํางานครั้งละ 5 ปีภายหลังได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และ (4) หากมีความ ประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทําได้ เป็นต้น
นายดนุชา กล่าวว่า 2.การให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ประชุมมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดศึกษา เพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อนําเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณาโดยเร็วต่อไป 3. การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ที่ประชุมมอบหมายให้กรมสรรพากรเตรียมร่าง พระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือวีซ่า LTR โดยมีหลักการที่สําคัญ ได้แก่ การกําหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พํานักระยะยาวกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทํางานจากประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและนําเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน และการกําหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่า ประเภทผู้พํานักระยะยาวกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งทํางานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบ อุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของประเทศ หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตาม ประมวลรัษฎากร ขณะที่การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศุลกากร อํานวยความสะดวกในการจัดทําแนวทางการเดินทางพิเศษสําหรับผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พํานักอาศัยระยะยาว (LTR) เป็นการเฉพาะ โดยจะเทียบเคียงกับสถานะการเดินทางทางการทูต (Diplomatic passport) และมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกําหนดแนวทางปฏิบัติเป็นการเฉพาะต่อไป
นายดนุชา กล่าวว่า และ 4. การจัดตั้งศูนย์บริการผู้พํานักระยะยาว (LTR-Service center) ที่ประชุมมอบหมายให้ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์บริการ ผู้พํานักระยะยาว รวมทั้งครอบคลุมการดําเนินภารกิจในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและอํานวยความ สะดวกและให้คําปรึกษาแก่ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่า LTR เพื่อให้การดําเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและ การลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ตามข้อเสนอของ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สกท. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวในประเด็นต่าง ๆ ที่สําคัญ ประกอบด้วยแนวทางการดําเนินการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการ Data hosting services แก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ แนวทางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมกิจกรรม กิจการคลาวด์เซอร์วิสในอนาคต และ แนวทางการสร้างความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตความ รับผิดชอบของผู้ให้บริการคลาวด์เกี่ยวกับการให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการผลักดัน นโยบายเกี่ยวกับบทบาทของผู้ให้บริการภาคเอกชนต่อการพัฒนาบริการคลาวด์ของภาครัฐ และหากได้ข้อยุติ แล้ว ให้ สกท. เสนอต่อที่ประชุม ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป
นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนสําหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยที่ประชุมมอบหมายให้สภาดิจิทัลฯหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพให้แก่ผู้ประกอบการไทย และเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการถ่ายทําภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยตามข้อเสนอของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่ประชุมมอบหมายให้สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันหารือร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดําเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจและอํานวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้กองถ่ายทํา ภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทําในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศและปัจจัย สนับสนุนที่จะช่วยขยายผลไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านอื่น ๆ เพื่อผลักดัน Soft power ของไทยต่อไป