กรมการค้าภายในสำรวจสถานการณ์ราคาผลไม้ หลังผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด พบ “มังคุด” เกรดมัน ทำนิวไฮ สร้างประวัติศาสตร์ราคาสูงสุดใหม่ กิโลกรัมละ 200 บาท “ทุเรียน” เกรด AB ราคา 190-200 บาท หลังตลาดจีนต้องการเพิ่ม แถมการขนส่งฉลุย เรือใหญ่เข้ามาเพียบ ราคาตู้ลด ยิ่งช่วยหนุน ส่วนการดูแลผลไม้ เตรียมใช้ “อมก๋อย โมเดล” นำผู้ประกอบการเข้าซื้อ มั่นใจปีนี้เป็นปีทองอีกปี
15 พ.ค. 2566 – นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาผลไม้ หลังผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่า ราคาผลไม้ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมังคุด เกรดมัน ที่ก่อนหน้านี้เคยทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วที่กิโลกรัม (กก.) ละ 161 บาท มาตอนนี้ ราคาขยับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด กก.ละ 200 บาท ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง ส่วนทุเรียน เกรด AB ราคาขยับเพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 190-200 บาท ซึ่งทำราคาสูงสุดในฤดูกาลผลิตปีนี้
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ราคามังคุดและทุเรียนปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากความต้องการซื้อ เพื่อนำไปส่งออก โดยเฉพาะมีความต้องการจากตลาดจีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ การขนส่งยังเอื้อต่อการส่งออก โดยจนถึงขณะนี้ มีเรือใหญ่เข้ามาเทียบท่าแล้ว 28 ลำ ซึ่งแต่ละลำมีตู้คอนเทนเนอร์มาก ทำให้ส่งออกได้มาก และที่สำคัญ ราคาค่าระวางปรับลดลง ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนส่งออกลดลง ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น
ส่วนการดูแลผลไม้ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังออกสู่ตลาด จะใช้โครงการ “อมก๋อย โมเดล” ในการเข้าไปรับซื้อผลผลิตในช่วงออกสู่ตลาดมาก ซึ่งปี 2565 ทั้งปี ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตผลไม้และสินค้าเกษตรอื่น ๆ รวม 1.5 แสนตัน ปีนี้แค่ 6 เดือนซื้อไปแล้วเกือบ 2 แสนตัน ซึ่งจะทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ภาคเหนือ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ และผลไม้ภาคใต้ เช่น ลองกอง ที่กำลังจะออกสู่ตลาด
“ปีนี้ กรมฯ มั่นใจว่าจะเป็นปีทองสำหรับชาวสวนผลไม้อีกปีหนึ่ง เพราะสถานการณ์ผลไม้จนถึงขณะนี้ แม้ผลผลิตภาพรวมจะมีมากถึง 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% แต่จนถึงขณะนี้ จากการติดตามสถานการณ์ราคา ไม่พบว่า มีปัญหา อย่างมะม่วง ที่เพิ่งจบฤดูกาลผลิตไป ก็มีราคาดีต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาล ตัวอื่น ๆ ก็ยังดี อย่างมังคุด ทุเรียน ราคาดีมาก และมั่นใจว่าผลผลิตตัวอื่นที่จะออกมา ราคาก็จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี”นายวัฒนศักย์กล่าว
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น โดยทุเรียนมีปริมาณ 7.82 แสนตัน ออกสู่ตลาดแล้ว 5.22 แสนตัน คิดเป็น 66.7% มังคุด ผลผลิต 1.22 แสนตัน ออกแล้ว 5.85 หมื่นตัน คิดเป็น 48% และเงา ผลผลิต 1.41 แสนตัน ออกแล้ว 6.21 หมื่นตัน คิดเป็น 44.1% คาดว่าอีกไม่นานผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดหมด โดยสถานการณ์ราคา ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ราคารับซื้อทุเรียนหมอนทอง เกรด AB กก.ละ 190-200 บาท เกรด C กก.ละ 140-150 บาท เกรด D กก.ละ 125-145 บาท มังคุด เกรดมันรวม กก.ละ 170-200 บาท เกรดกากลาย กก.ละ 120-135 บาท เกรดคละ กก.ละ 130-160 บาท และเงาะโรงเรียน กก.ละ 35-38 บาท
ทั้งนี้ หลังผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกหมด ก็จะเข้าสู่ฤดูกาลของผลไม้ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว โดยผลผลิตชนิดใด ออกสู่ตลาดมาก หรือออกพร้อม ๆ กัน ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการใช้อมก๋อย โมเดล นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ และนำกระจายออกนอกพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ทำสำเร็จในส่วนของมะม่วง ที่ทำให้ราคาดีตลอดทั้งฤดูกาลผลิต โดยมะม่วงฟ้าลั่น กก.ละ 9-10 บาท เพิ่มขึ้น 64% น้ำดอกไม้ 20 บาท เพิ่มขึ้น 36%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลยันผู้ปลูกมันสำปะหลังไม่ถูกกดราคาแน่
รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เตือนพ่อค้ากดราคา โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จัดสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายมันฯ ในแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศ รับฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่ม ธ.ค.นี้
พาณิชย์คุยปิดฤดูกาลผลไม้ราคาพุ่งทุกรายการ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท
ปิดฤดูกาลผลไม้ปี 67 อย่างงดงาม เกษตรกรยิ้ม ราคาพุ่งทุกรายการ ส่งออกผลไม้ 8 เดือนแรกเป็นบวก รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท “พิชัย”สั่งเตรียมมาตรการเชิงรุกปี 68 ต่อ
'พิชัย' ปลื้ม Live Commerce โกยเงิน 1,510 ล้านบาทเข้าประเทศ
“พิชัย” ปลื้ม “5 วัน โกยเงินกว่า 1,510 ล้านบาท” เข้าประเทศ ผ่านงาน International Live Commerce Expo 2024 พร้อมขยายโครงการ Live Commerce อย่างต่อเนื่องหนุนสินค้าไทยตีตลาดโลก
'พิชัย' ประเดิมภารกิจเร่งด่วน แก้ราคาสินค้าแพง พร้อมเข้มสินค้าจีนทะลัก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรรีว่าการกรทะรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังจากเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เมื่อวานนี้ ว่าในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดการทำงานในหลายเรื่องที่เป็นปัญหากระทบ
สศท.8 เผย ปีนี้ไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด คาดผลผลิตรวม 6.9 แสนตันออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ77
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ ปี 2567