กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เร่งดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ของ คต. รวมทั้งประสานศุลกากรประเทศปลายทางอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมทางการค้าระหว่างประเทศของไทย
11 พ.ค. 2566 – นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565 คต. ได้รับการประสานจากหน่วยงานศุลกากรต่างประเทศ เพื่อขอความร่วมมือกรมฯ ตรวจสอบย้อนหลังหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้แสดงต่อศุลกากรต่างประเทศในการนำเข้าสินค้าจากไทยจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,055 ฉบับ แบ่งเป็น (1) หนังสือรับรองที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Form FTA) ได้แก่ Form D / Form E / Form AK และ Form AI จำนวนรวม 788 ฉบับ และ 2) หนังสือรับรองที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษี (Form CO ทั่วไป) จำนวนรวม 267 ฉบับ ซึ่งจากการดำเนินการตรวจสอบพบว่า เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอมซึ่งไม่ได้ออกโดยกรมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 604 ฉบับ แบ่งเป็น 1) Form FTA จำนวน 382 ฉบับ และ 2) Form CO ทั่วไป จำนวน 222 ฉบับ ทั้งนี้ คต. อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเร่งดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว และประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศุลกากรประเทศผู้นำเข้าปลายทาง เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างต่อเนื่อง
จากการตรวจสอบข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอม จำนวน 604 ฉบับ พบว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารโดยการสวมเลขที่ Form ของผู้ส่งออกรายอื่น หรือมีการกำหนดเลขที่ Form ขึ้นเอง ทั้งนี้มีการใช้หนังสือรับรองฯ กับสินค้า 2 รายการ ได้แก่ 1) สินค้าทุเรียน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองฯ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Form E) สำหรับการส่งออกไปประเทศจีน และ 2) สินค้าล้ออัลลอย (Alloy Wheel) ซึ่งเป็นหนังสือรับรองฯ Form CO ทั่วไป สำหรับการส่งออกไปสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างไรก็ดีจากทั้งสองกรณีดังกล่าว คต. ได้แจ้งตอบให้ศุลกากรปลายทางทั้งสองประเทศทราบแล้ว ว่าเป็นหนังสือรับรองฯ ที่ไม่ได้ออกโดยกรมฯ และขอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการกับผู้ปลอมแปลงหนังสือรับรองฯ ต่อไป
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการนำเอกสารหนังสือรับรองฯ ปลอมไปใช้ในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ซึ่งจะทำให้ศุลกากรปลายทางขาดความเชื่อมั่น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมทางการค้าระหว่างประเทศของไทย คต. จึงกำหนดมาตรการเชิงรุก โดยการจัดทำระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ SMART CO ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน QR Code และมีการลงลายน้ำ เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้งจัดทำแผนการพบปะหารือหน่วยงานศุลกากรจีน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ของจีนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางป้องกันและเอาผิดกับผู้ดำเนินการปลอมแปลงเอกสารตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์เร่งเครื่องส่งมันสำปะหลังล็อตใหญ่เข้าตลาดจีน
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จับมือร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางขยายตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยในอุตสาหกรรมขั้นปลาย ที่มีศักยภาพ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5 – 9 มกราคม 2568 โดยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นความต้องการล่วงหน้าในตลาดก่อนเทศกาลตรุษจีนและสร้างมูลค่าทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย
รัฐบาลโวช่วยปลดล็อก SME ส่งออกข้าวได้ง่ายขึ้น
รัฐบาลหนุนเกษตรกรไทย ช่วย SME ปรับลด – ปลดล็อก กฎหมายขึ้นทะเบียนส่งออกข้าว มีผลทันทีภายใน 30 นาที ช่วยอำนวยความสะดวก ผลักดันส่งออก คาดปี 68 ส่งออกข้าวทะลุ 7.5 ล้านตัน
พาณิชย์คลอดมาตรการ ‘อนุญาตให้นำเข้า' ก่อน ‘ห้ามนำเข้า’ เศษพลาสติก
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศออกกฎกำหนดมาตรการนำเข้าเศษพลาสติก 2 ฉบับ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
รัฐบาลตีปี๊บยอดส่งออกข้าวไทย 10 เดือน
'อนุกูล' เผย สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.32% มูลค่า 191,031 ล้านบาท คาดทั้งปีส่งออกสูงถึง 9 ล้านตัน มูลค่า 230,000 ล้านบาท
ค้าชายแดนไทย ยังโตต่อเนื่อง 8 เดือนแรก ทะลุ 1.2 ล้านล้าน ขยายตัว 7.1%
การค้าชายแดนและผ่านแดน ส.ค. 67 ขยายตัวต่อเนื่อง +16.2% รวม 8 เดือนแรก ขยายตัว 7.1% ส่งออกสินค้าพลังงาน ทุเรียนสด ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ยังโตต่อเนื่อง
'พาณิชย์'จ่อใช้ยาแรงสกัดกั้นการนำเข้าขยะ
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ เตรียมยกระดับมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าขยะ หากยังพบว่ามีการสำแดงสินค้าว่าเป็นเศษกระดาษที่คัดแยกประเภทแล้วนำเข้ามาเพื่อรีไซเคิล แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าสินค้ามีขยะเจือปนอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นของเสียอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดมลพิษอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม