คปภ.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ปัญหาข้อพิพาทด้านประกันภัย

สำนักงาน คปภ. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เลขาธิการ คปภ. กดปุ่มเปิดระบบ E–Arbitration ให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมกันทั่วประเทศแล้ว

9 พ.ค. 2566 – นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ของสำนักงาน คปภ.และเปิดตัวโปรแกรมระบบการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับตัวให้เข้าสู่ยุค Next Normal ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการกำกับและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้มีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของสำนักงาน คปภ. ในการยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีใน 3 มิติใหม่

คือ มิติแรก ปรับปรุงโฉมของ Website สำนักงาน คปภ. ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้มีความทันสมัยเพื่อลดขั้นตอนในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลด้านการประกันภัยเสมือนเป็นห้องสมุดด้านการประกันภัยที่รองรับทุกการเข้าถึงในทุกอุปกรณ์ ทั้งจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต โดยปรับเพิ่มรูปแบบ Website สำนักงาน คปภ. เช่น นำระบบ Chatbot ซึ่งเดิมอยู่แยกต่างหากมารวมไว้ ทำให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนในการสอบถามข้อมูลด้านการประกันภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มระบบค้นหาสำนักงาน คปภ. ทุกแห่งทั่วประเทศด้วยระบบ Google Map เพิ่มระบบค้นหา Search ที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แบ่งหมวดหมู่ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น มีการบริการอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน คปภ. ที่สามารถรองรับทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าชม OIC Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนรูปแบบ 360 องศา ที่รวบรวมประวัติการประกันภัยไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีการรวบรวมข่าวสาร ปฏิทินกิจกรรมของสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไว้อย่างเป็นระบบครบวงจรด้วย “รอบรู้ประกันภัย ครบใน Web เดียว กับ www.oic.or.th

มิติที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนงาน หรือ ระบบ E–Arbitration ที่มีการเปิดตัวในวันนี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อยอดมาจากระบบ PPMS (Policyholder Protection Management System) ที่มีอยู่ โดยระบบดังกล่าวสามารถรองรับกระบวนการพิจารณาผ่านระบบออนไลน์ในทุกขั้นตอนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การยื่นคำเสนอข้อพิพาท การยื่นคำคัดค้าน การวางและคืนเงินเป็นหลักประกัน การตั้งอนุญาโตตุลาการ การกำหนดวันนัดพิจารณา การส่งและสั่งคำร้อง การสืบพยาน การจัดทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับงานอนุญาโตตุลาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบ E – Arbitration เพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนั้น สำนักงาน คปภ. ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาของกระบวนการที่ใช้ในปัจจุบัน จนได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการดำเนินงาน จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาระบบแล้วได้เชิญผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้แทนผู้เสนอข้อพิพาท ผู้แทนผู้คัดค้าน (บริษัทประกันภัย) และอนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เข้าร่วมทดสอบระบบและรับฟังข้อเสนอแนะในระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2565 พร้อมทั้งได้นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงและพัฒนาระบบเพิ่มเติม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนเปิดใช้งานระบบ E–Arbitration อย่างเป็นทางการ โดยระบบ E–Arbitration จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในแง่ประชาชนผู้เอาประกันภัย จะทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณา

ซึ่งมีผลทำให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือยุติข้อพิพาทได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและติดตามความคืบหน้าได้ตลอดทุกที่และตลอดกระบวนการ ส่วนทางด้านบริษัทผู้รับประกันภัยก็จะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกระบวนการพิจารณา โดยไม่ต้องเดินทางมา ณ ที่ทำการของอนุญาโตตุลาการในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งลดภาระการดำเนินการทางเอกสาร และสามารถบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของอนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยให้มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมากขึ้น

สำหรับการใช้งานระบบ E – Arbitration ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (WWW.OIC.OR.TH) โดยทำการเลือกที่ MENU “อนุญาโตตุลาการออนไลน์” ทั้งนี้ การเปิดใช้งานระบบเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนที่มีความพร้อมในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของการใช้ระบบนี้ สำนักงาน คปภ. ยังคงเปิดรับการให้บริการคู่พิพาทตามรูปแบบเดิมคู่ขนานกันไปด้วย ในส่วนของวิธีการใช้งานและช่องทางในการใช้งานผ่านระบบ E-Arbitration ดังกล่าว ประชาชน บริษัทประกันภัย และอนุญาโตตุลาการ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและเข้าใช้งานโดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการเผยแพร่คู่มือการใช้งานและคลิปวิดีโอแนะนำการใช้งานต่าง ๆ ตลอดจนเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ได้ที่ Website สำนักงาน คปภ. Facebook สำนักงาน คปภ. OIC Mobile Application : คปภ. รอบรู้ และสายด่วน คปภ. 1186

มิติที่ 3 สำนักงาน คปภ. อยากให้ช่องทางการสื่อสารของสำนักงาน คปภ. สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารด้านการประกันภัย อีก 3 ช่องทาง คือ Instagram Twitter และ TikTok และปรับชื่อ Facebook YouTube ใหม่ เพื่อป้องกันความสับสนและเพื่อจะได้ง่ายต่อการจดจำโดย Facebook : เปลี่ยนจาก proic2012 เป็น oicthailand ในส่วนของ YouTube : เปลี่ยนจาก oicstation เป็น oic.thailand สำหรับInstagram หรือ IG : ใช้ชื่อในการค้นหา คือ oic.thailand ในขณะที่ Twitter : ใช้ชื่อในการค้นหา คือ oic_thailand และ TikTok : ใช้ชื่อในการค้นหา คือ oicthailand

“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการให้บริการประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงาน คปภ. จะติดตามการใช้งานระบบ E–Arbitration อย่างต่อเนื่อง พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อแนะนำจากผู้ใช้งานเพื่อนำมาปรับปรุงระบบงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปภ. ประกาศผลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย “OIC InsurTech Award 2024”

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย

คปภ. เดินหน้าเคียงข้างเพื่อประชาชนเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ.

นางสาววิไลพร เจียรกิตติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวางแผนและพัฒนากฎหมาย สำนักงาน คปภ. เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ. โดยมี นายประสงค์ หล้าอ่อน นายดำรงศักดิ์ ยอดทองดี

'เศรษฐา' เผยยักษ์ใหญ่ประกันภัยอยากขยายธุรกิจเพิ่มในไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ได้คุยกับคุณ Jaime Anchustegui, CEO บริษัท Generali International บริษัทประกันภัยชั้นนำครบวงจรระดับโลก เสนอให้พิจารณาเพิ่มการลงทุนขยายธุรกิจในไทย

คปภ. เห็นชอบสั่ง ‘บมจ. สินมั่นคงประกันภัย’  หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

คณะกรรมการ คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “บมจ. สินมั่นคงประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวคุมเข้มให้บริษัทหยุดรับประกันภัย ภายหลังศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้เดือดร้อน