คลังพร้อมเต็มสูบรับมือ ‘โอไมครอน’ เตรียมงบ 1 ล้านล้านรออัดฉีดพยุงเศรษฐกิจ

คลังยันพร้อมเต็มสูบรับมือ “โอไมครอน” แจงมีงบรออีก 1 ล้านล้านบาทอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ “อาคม” ยันปีหน้าจีดีพีโตแน่ 4% วอนเอกชนใจเย็นหลังเรียกร้องฟื้นช้อปดีมีคืน

2 ธ.ค. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขที่จะต้องดูแนวทางการป้องกันให้ชัดเจน ส่วนหน้าที่ของกระทรวงการคลังก็ต้องดูว่าการแพร่ระบาดต้องไม่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจึงต้องมีความชัดเจน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ได้ให้ความสำคัญกับการจำกัดการแพร่ระบาด และปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาให้เข้มข้นมากขึ้น

“มาตรการที่จะทำต้องคู่ขนานกันระหว่างมาตรการดูแลเศรษฐกิจและมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากสถานการณ์ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาด และฉีดวัคซีน” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ก็ไม่อยากให้กังวลในเรื่องของเม็ดเงินที่ใช้ในการดูแลเศรษฐกิจปี 2565 โดยจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุน 6 แสนล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท ขณะที่เงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยังเหลือเม็ดเงินอีก 2.5 แสนล้านบาท รวมกว่า 1 ล้านล้านบาทที่เตรียมจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีหน้า โดยในส่วนเม็ดเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิดเพิ่มเติมนั้น แม้ว่าจะเป็นงบที่เตรียมไว้ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่หากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ก็สามารถที่จะโยกเม็ดเงินมาใช้ในการเยียวยาได้

ส่วนข้อเสนอเอกชนที่ให้ฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่นั้น รมว.การคลัง ระบุเพียงว่า “ขอให้ใจเย็น ๆ”

อย่างไรก็ดี นายอาคม ได้กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok Post International Forum 2021 ในหัวข้อ “Unleashing The Future : A Glimpse into 2022 and Beyond ว่า ในปี 2564 คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวได้ที่ระดับ 1% ซึ่งถือเป็นระดับที่สมเหตุสมผล ส่วนไตรมาส 4/2564 มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาส 3/2564 ที่หดตัว 0.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ช่วยสนับสนุนอำนาจการซื้อ และลดภาระความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผ่านโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น รวมทั้งยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ผ่านมาตรการลดค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศยังช่วยสนับสนุนกิจกรรทางเศรษฐกิจให้ตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้

“ที่ต้องติดตามคือความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น รวมถึงความเสี่ยงการจากแพร่ระบาดของโอไมครอน ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีประสบการณ์จากอดีต ก็เชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับใช้และช่วยลดผลกระทบ รวมถึงป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดได้” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้กับมาเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องมีมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างทั่วถึง กระจายไปยังทั่วประเทศ ผลักดันการเติบโตทั้งในระยะสั้น และเตรียมพร้อมเพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว โดยรัฐบาลจะเน้น 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งนโยบายที่สำคัญคือการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยในช่วงต้นปีหน้าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวออกมา

2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เน้นลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมใหม่ ผ่านโครงการอีอีซี เพื่อส่งเสริมศักยภาพของไทย ลดการพึ่งอุตสาหกรรมเก่า3. การเปลี่ยนเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น โครงการ 5G เพื่อรองรับการเติบโตด้านดิจิทับ4.การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป และ5. การส่งเสริมตลาดทุน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับการลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยขณะนี้คลังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลให้การลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามกฎ ระเบียบระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ดี รมว.การคลัง ยืนยันว่าปัจจุบันสถานะทางการคลังของประเทศมีความมั่นคง โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงส่งเสริมให้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีศักยภาพ ผ่านการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยการบริหารจัดการด้านการเงินของรัฐบาลยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง และเป็นไปตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยในเดือน ต.ค. 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 58.8% ของจีดีพี ยังไม่เกินกรอบเพดานวินัยการคลังที่ 70% ของจีดีพี

“คลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายการเงินและการคลังจะทำให้เกิดภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการนำนโยบายการเงินและการคลังมาปฏิบัติจะต้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทย และเอื้อต่อการฟื้นตัวที่เข้มแข็ง โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเตรียมเศรษฐกิจสำหรับโลกหลังโควิด-19 เรื่องนี้รัฐบาลไม่สามารถทำได้ลำพัง ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน โดยเฉพาะภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลจะยังสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกส่วนทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน” นายอาคม กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน

'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%

‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น

ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า

เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที

ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน