กทท. เร่งสรุปแผนพัฒนาที่ดิน 90 ไร่ ท่าเรือแหลมฉบัง ปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์และจุดจอดรถบรรทุก คาดประมูล ก.ย.นี้ หนุนเป้าหมายท่าเรือสีเขียว แก้ปัญหาจราจรแออัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
1 เม.ย. 2566 – นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และจุดจอดรถบรรทุก ท่าเรือแหลมฉบัง โดยระบุว่า ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด เพื่อจัดสรรพื้นที่ 90 ไร่ เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการท่าเรือ อาทิ จุดชาร์จรถไฟฟ้า (อีวี) สถานีน้ำมัน โรงแรมพักอาศัย ร้านค้าต่างๆ และที่สำคัญคือจุดจอดรถบรรทุก ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดรอคิวก่อนเข้าพื้นที่ท่าเรือ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด
อย่างไรก็ดี กทท.คาดว่าการศึกษาโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน มิ.ย.นี้ และเริ่มขั้นตอนเปิดประกวดราคาภายในปีงบประมาณ 2566 หรือภายใน ก.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการแล้ว กทท.ยังอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) เพื่อพัฒนาระบบคิวรถบบรรทุก ให้รองรับได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเดินทางออกจากโรงงาน เพื่อให้สามารถจัดคิวเข้ารับส่งสินค้าภายในท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ
“คาดว่าทั้งสองเรื่องนี้ คือการออกแบบโครงการกับการศึกษาระบบดิจิทัลติดตามรถบรรทุกตั้งแต่โรงงานจะจบภายในปีงบประมาณนี้ หรือ ก.ย.นี้ ถ้าสองเรื่องนี้จบ และเริ่มเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาพัฒนาโครงการต่างๆ ได้ การแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ท่าเรือจะดีขึ้น เพราะจะไม่เห็นภาพรถบรรทุกจอดรอคิวริมทางเข้าท่าเรือ หรือการจราจรติดขัดภายในท่าเรือแล้ว แต่จะเห็นการจุดคอยที่เป็นระบบ มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ”นายเกียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม กทท.มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการจุดพักรถบรรทุกแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบของการบริหารพื้นที่ในท่าเรือเพื่อประโยชน์สูงสุด โดยเอกชนสามารถเข้ามาเสนอแผนพัฒนาโครงการและเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับ กทท.อย่างเหมาะสม รวมทั้งโครงการนี้จะส่งเสริมให้ท่าเรือของ กทท.เป็นท่าเรือสีเขียวที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากมลภาวะเผาพลาญเชื้อเพลิง เพราะสามารถลดการติดเครื่องยนต์ในการรอขนถ่ายสินค้าได้
รายงานข่าวจาก กทท.เปิดเผยว่า เบื้องต้นร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ในโครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกนั้น กทท.จะมีการกำหนดรูปแบบโครงการที่ต้องการให้เอกชนพัฒนาในรูปแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) อาทิ จำเป็นต้องมีโรงแรม สถานีน้ำมัน พื้นที่พักคอยของรถบรรทุก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ส่วนรายละเอียดของร้านค้าหรือลักษณะในการออกแบบโครงการทางเอกชนจะต้องเป็นผู้นำเสนอ พร้อมยื่นข้อเสนอส่วนแบ่งรายให้กับ กทท.ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สิงห์เจ้าท่า'ต่อสัญญา 'การท่าเรือฯ'อีก5ปี ตั้งเป้าแชมป์ไทยลีกครั้งแรก
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ณ อาคารสำนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย และ บริษัท การท่าเรือ เอฟซี จำกัด อย่างเป็นทางการ โดยมอบสิทธิ์ให้บริหารทีมต่อเนื่องอีก 5 ปี หรือ จนสิ้นสุดในปี 2571
เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข พาทัวร์งานหินถมทะเลแหลมฉบังเฟส3
คงต้องบอกว่า “โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3” เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทย
กทท. ผุด 3 ธุรกิจใหม่พัฒนาท่าเรือกรุงเทพดันฮับขนส่งทางน้ำ
กทท.จับมือเอกชน ผุด 3 ธุรกิจใหม่พัฒนาท่าเรือกรุงเทพ มุ่งเพิ่มปริมาณตู้สินค้า 10,000 ทีอียูต่อปี ส่งเสริมการนำเข้า – ส่งออกระหว่างประเทศ พร้อมผุดโครงการเขตปลอดอากร หวังอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในการนำเข้าส่งออก