กทพ.เตรียมเสนอคณะกรรมการ ม.36 เคาะแนวทางการลงทุนด่วนภูเก็ต ควบรวมโครงการสายกะทู้ – ป่าตอง และเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ เพิ่มระยะทางรวมเป็น 33.98 กม.และมูลค่าการลงทุนทะลุ 5 หมื่นล้านบาท หวังจูงใจเอกชน ชี้แนวทางเหมาะสมจ่อลุยประมูลงานโยธาก่อน หวังสร้างเสร็จเปิดทันรับเจ้าภาพ Specialize Expo ในปี 2571
27 เม.ย. 2566 – รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยระบุว่า ภายหลังที่ กทพ.เปิดประกวดราคาและให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่7 เม.ย.ที่ผ่านมา และปรากฏว่าไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอ ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลและสอบถามความคิดเห็นภาคเอกชน มองว่าการลงทุนในโครงการมีระยะทางที่สั้นเกินไปและยังไม่คุ้มค่าต่อการร่วมลงทุน
อย่างไรก็ดี เพื่อให้โครงการยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะทางด่วนสายนี้ถือว่ามีความจำเป็นทางการลงทุนแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ และยังคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจจากการสนับสนุนการท่องเที่ยว กทพ.จึงอยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียดโครงการ และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นผู้พิจารณาแนวทางร่วมลงทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้เบื้องต้น กทพ.ได้ทบทวนและพบ 2 แนวทางเลือกที่เหมาะสม ประกอบด้วย 1.รอผลการศึกษาของโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ เพื่อเพิ่มแนวเส้นทางให้มีระยะทางยาวขึ้น และครอบคลุมทั้งโครงการ จูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากขึ้น แต่แนวทางนี้จะทำให้ภาพรวมโครงการล่าช้าออกไป เพราะต้องรอผลการศึกษาสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้แล้วเสร็จจึงจะประมูลได้ และเมื่อได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนจึงจะเริ่มงานก่อสร้างทั้งสายกะทู้- ป่าตอง และสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ดังนั้นอาจไม่ทันต่อเป้าหมายเปิดให้บริการรองรับจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพงาน Specialize Expo 2028 ในปี 2571
และ 2.กทพ.จะเดินหน้าเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธา สายกะทู้ – ป่าตอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานอุโมงค์ทางลอดที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างจำนวนมาก และจะดำเนินการควบคู่ไปกับการร่างเอกสารประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนบริหารทางพิเศษตลอดเส้นทางสายกะทู้ – ป่าตอง และสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ หลังจากได้ตัวเอกชนแล้ว ทางเอกชนจะต้องจ่ายค่าก่อสร้างงานโยธาสายกะทู้ – ป่าตองคืนให้กับ กทพ.ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้งานก่อสร้างคืบหน้าต่อเนื่อง และทันต่อการเปิดให้บริการในปี 2571
รายงานข่าวแจ้งว่าทั้ง 2 ทางเลือกที่การทางฯ จะเสนอให้กับคณะกรรมการ ม.36 พิจารณา คือ ควบรวมแนวเส้นทางทั้งสายกะทู้ – ป่าตอง และสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ เพราะจะจูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากกว่า และการทำให้ทั้งสองสายทางเป็นโครงการเดียวกัน เปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนไปพร้อมกัน จะทำให้เกิดความคล่องตัวมากกว่า ส่วนจะใช้แนวทางใดก็ต้องอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ ม.36 ว่าจะขัดต่อการร่วมลงทุนหรือไม่ แต่ในส่วนทางการทางฯ มองว่าโครงการนี้เร่งด่วน มีความจำเป็น และแนวทางที่ 2 คือการเริ่มประมูลงานก่อสร้างไปก่อนให้เอกชนมาจ่ายชดเชยภายหลังเป็นทางออกที่เหมาะสม
สำหรับโครงการสายกะทู้ – ป่าตอง กทพ.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 ซึ่งเมื่อครบกำหนดการซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2565 ถึงวันที่ 25 ม.ค. 2566 ปรากฏว่ามีภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัทเอกชนไทยและบริษัทเอกชนต่างชาติ ให้ความสนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนรวมทั้งสิ้น จำนวน 13 ราย แต่เมื่อถึงกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 7 เม.ย.2566 กลับไม่มีเอกชนรายใดเข้ายื่นข้อเสนอ
ทั้งนี้ กทพ.คาดว่ามีสาเหตุเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆ อาทิ โรคระบาดจากเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบระยะยาว สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างจากเดิมเมื่อปี 2564 ได้ประมาณการไว้ในปีที่เริ่มก่อสร้างจำนวน 8,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10 จึงทำให้ไม่จูงใจเอกชนในการตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนโครงการเท่าที่ควร
สำหรับโครงการสายกะทู้ – ป่าตอง เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 1 แห่ง โครงการดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.34 ล้านบาท ทั้งนี้ กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน (รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน รถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน)
ทั้งนี้ในส่วนโครงการสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ มีระยะทาง 30 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 35,800 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ 14,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,300 ล้านบาท โดยโครงการสายนี้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดเก็ต และผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีผลตอบแทนการลงทุนดี เพราะเป็นโครงข่ายทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดได้อย่างสะดวก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน แต่ค้านขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็เป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง
กทพ.ผุดทางด่วนริเวียร่า 'สมุทรสาคร-สมุทรปราการ' มูลค่าแสนล้าน
“กทพ.” กางแผนลุ้นปี 69-70 ศึกษาสร้าง “ทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ” วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ยาว 71 กม. เล็งตอกเสาเข็มแบ่งเป็นเฟส รับแผนแม่บท MR-MAP เชื่อมมอเตอร์เวย์ หนุนระบบราง