ความสุขเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม

24 เม.ย. 2566 - ผมตั้งคำถามนี้เพราะดูทุกคนอยากมีความสุข ถามหาแต่ความสุข ยิ่งอายุมาก ยิ่งพูดเรื่องนี้มาก ทั้งที่จริงๆอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องการหรือความสุขที่อยากมีคืออะไร พูดถึงขนาดว่าความสุขเป็นเป้าหมายสูงสุดหรือยอดปรารถนาของการมีชีวิต ทําให้คนที่ไม่มีความสุขดูเป็นคนไร้ค่า หรือเป็นคนที่ชีวิตไม่ประสพความสําเร็จ ซึ่งอาจไม่จริง

เพราะที่ไม่ได้ถามหรือมักไม่ถามกันคือความสุขที่มีนั้้นได้มาอย่างไร เช่นถ้าเป็นความสุขที่ได้จากเงินทอง คําถามคือเราได้เงินทองมาอย่างไร ได้มาอย่างสุจริตหรือโกงมา และมีใครเดือดร้อนหรือไม่จากความสุขที่เรามี ที่สำคัญเราจะอยู่ได้ไหมถ้ามีความสุขอยู่คนเดียวแต่คนอื่นหรือสังคมมีทุกข์ คือไม่มีความสุข

วันนี้จึงจะเขียนเรื่องนี้ โดยพยายามตอบคําถามว่าความสุขเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม และอยากชวนแฟนคอลัมน์ "เขียนให้คิด" ช่วยคิดต่อและให้ความเห็นเพราะเป็นเรื่องชวนคิด น่าคิด และสําคัญ

อยากเริ่มว่า ความสุขแม้เป็นเริ่องที่วัดหรือจับต้องได้ยาก แต่ก็พอมองออก คือเราเห็นชัดว่าคนที่มีความสุขกับคนที่ไม่มีความสุขจะต่างกันมากแม้เป็นคนๆเดียวกัน ชี้ว่าความสุขในระดับบุคคลมีเข้ามีออกมีขึ้นมีลง ขณะที่ในระดับสังคมหรือประเทศ เราก็เห็นสังคมมีความแตกต่างกันเรื่องความสุขและสัมผัสได้ เช่นบางประเทศน่าอยู่ ไปแล้วไม่อยากกลับ อยากอยู่ต่อ แต่บางประเทศไม่อยากไป เพราะคนในประเทศดูไม่มีความสุข

ความแตกต่างนี้ทําให้เกิดคําถามที่น่าสนใจว่า ความสุขส่วนตน คือ personal happiness กับความสุขส่วนรวม คือ public happiness จะต่างกันได้หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ความสุขของปัจเจกบุคคลกับความสุขส่วนรวมที่ประเทศหรือสังคมมีสามารถแยกจากกันได้หรือไม่ หรือต้องไปด้วยกัน นั้นคือความสุขเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม

นักวิชาการที่ศึกษาและทําวิจัยเรื่องนี้จะให้ความเห็นว่า ความสุขเป็นทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ส่วนตัวคือความสุขที่เกิดขึ้นกับบุคคล มาจากประสบการณ์จริงในชีวิตของบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่ได้สัมผัส ซึ่งของแต่ละคนจะต่างกัน ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เป้าหมาย และสิ่งที่แต่ละคนให้ความสำคัญ ตัวอย่างเช่นบางคนมีความสุขเพราะได้ทําสิ่งที่ตัวเองชอบ บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เป็นต้น

ตรงกันข้ามความสุขส่วนรวมไม่ได้มาจากความสุขของคนใดคนหนึ่งในสังคม แต่มาจากความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมสะท้อนจากคุณภาพชีวิต วัฒนธรรม และวิถีการอยู่ร่วมกันของสังคม ตัวอย่างเช่น ในสังคมที่มีความสุข สังคมมีลักษณะที่จะช่วยเหลือจุนเจือกัน มีความอบอุ่น มีความสุขในระดับครอบครัว ขยายผลมาเป็นความสุขในระดับชุมนุมและระดับประเทศ

การศึกษาในประเด็นนี้ชี้ต่อว่าความสุขส่วนตนกับความสุขส่วนรวมไม่จําเป็นต้องเหมือนกันคือต่างกันได้ แต่ในที่สุดความแตกต่างก็จะน้อยลงคือจะเป็นเหมือนกันหมดเพราะปัจจัยในสังคมจะดึงหรือสร้างพลังระหว่างกัน reinforce ให้ความแตกต่างที่มีอยู่ลดลง

ตัวอย่างเช่น เราอาจเป็นคนมีความสุขในระดับบุคคลในสังคมที่ไม่มีความสุข เช่นเป็นคนที่รวยมาก มีความสุขจากความรํ่ารวยในสังคมที่ยากจนที่คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุข ชัดเจนว่า ชีวิตเราจะอยู่ยากและความสุขที่เรามีจะไม่ยั่งยืน เเละในที่สุดเราอาจเป็นคนไม่มีความสุขไปด้วย

เช่นเดียวกันเราอาจมีคนไม่มีความสุขในสังคมที่มีความสุข แต่ในที่สุดคนที่ไม่มีความสุขอาจกลายเป็นคนมีความสุขเพราะคนในสังคมที่มีความสุขจะช่วยเหลือกัน ทําให้คนที่ไม่มีความสุขรู้สึกดีขึ้น เรื่มมีความสุขตามไปด้วย

การศึกษาเหล่านี้ให้ข้อสรุปสําคัญสองข้อ หนึ่ง ความสุขส่วนบุคคลกับความสุขส่วนรวมต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ความแตกต่างจะไม่ยั่งยืน สอง ความสุขส่วนรวมที่ยั่งยืนจะมาจากความสุขส่วนตนของคนในสังคมเป็นหลัก คือถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่ไม่มีความสุข สังคมก็จะไม่มีความสุข

สองข้อนี้จึงให้คําตอบชัดเจนว่าความสุขเป็นเรื่องทั้งส่วนตนและส่วนรวม

ในเรื่องนี้พุทธศาสนาก็มีคําตอบ โดยเฉพาะในสังคมชาวพุทธอย่างสังคมไทย ที่เราอยู่ในโลกสองโลกที่ขนานกันแต่เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง นั้นคือโลกทางวัตถุและโลกทางใจ หรือโลกทางธรรม

ทั้งสองโลกมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความสุขของมนุษย์ชาติ โลกหนึ่งเป็นโลกที่ความสุขส่วนบุคคลของคนในสังคมมาจากการแสวงหาเพื่อให้เกิดความสบาย ความสุข และการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นลาภยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทอง ตําแหน่ง สุขภาพ ครอบครัว หรือแม้แต่การมีอํานาจเหนือผู้อื่น เป็น เป็นโลกทางวัตถุที่ขับเคลื่อนโดยกิเลส ความมีเหตุมีผล และมายา

อีกโลกเป็นโลกของจิตใจมนุษย์ ของการทําตนและจิตใจของคนในสังคมให้ดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เป็นความสุขของส่วนรวมโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

ทั้งสองโลกอยู่ร่วมกัน มีวัดและพระสงฆ์เป็นผู้ประสานและเป็นตัวเชื่อม โดยวัดทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นตัวเขื่อมให้คนในชุมชนให้รู้จักกัน หารือกัน และช่วยเหลือกัน มีพระสงฆ์เป็นผู้เผยแผ่ธรรม อบรมสั่งสอนหลักของการปฏิบัติตนและการอยู่ร่วมกันเพื่อให้ตนเองและสังคมมีความสุข ภายใต้หลักคิดที่ว่า ถ้าปัจเจกบุคคลประพฤติดีมีความสุข ทั้งกายวาจา ใจ ก็จะสร้างพลังหรือภาวะแวดล้อมให้คนใกล้ชิดมีความสุขตามไปด้วย เรื่มจากตนเองมีความสุข ครอบครัวมีความสุข ชุมชนมีความสุข และประเทศหรือสังคมมีความสุข

เห็นได้ว่าข้อสรุปที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยจึงตอกย้ำหลักคิดของพระพุทธศาสนาที่ยืนยาวมากว่าสองพันห้าร้อยปีว่าสังคมมีความสุขจากความสุขที่คนในสังคมมีที่มาจากการประพฤติปฏิบัติดี อยู่ในศีลในธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ด้วยเหตุนี้ ความสุขส่วนตัวกับความสุขส่วนรวมจึงแยกกันไม่ออก นั่นคือ ความสุขไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนรวม

และถ้าเราจะทำให้สังคมดีขึ้น สังคมมีความสุข ต้องเริ่มที่ตนเอง

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน