“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” แตะเบรกพรรคการเมืองปูดนโยบายหาเสียงบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจ ย้ำหมดเวลากระตุ้นเศรษฐกิจ-พักหนี้หว่านแห ชูคุมเสถียรภาพ 4 ด้าน หวั่นหนี้ทะลุเพดานประเทศถูกดาวน์เกรด พร้อมปักธงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตทะลุ 4% ท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนหนุน ส่งออกพลิกบวก จับตาปัญหาตลาดการเงินโลก-ระบบธนาคาร เชื่อยังไม่จบ
24 เม.ย. 2566 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผู้ว่าการ ธปท. ยังระบุอีกว่า ธปท. ไม่ขอแสดงความเห็นกับนโยบายที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่นำมาหาเสียง ซึ่งในหลักการแล้วหากเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วบั่นทอนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่ ธปท. ต้องจับตา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. เสถียรภาพด้านราคา นโยบายที่ออกมาจะต้องไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นมาก (ไฮเปอร์ อินเฟรชั่น) เช่นในหลายประเทศที่จะต้องมีการพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพ ทำให้นโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลังเกินความจำเป็น จนขาดเสถียรภาพในการกำหนดนโยบาย
2. เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เช่น การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน 3. เสถียรภาพด้านฐานะการคลัง ที่จะต้องคำนึงบนพื้นฐานหลายอย่าง ไม่ให้ภาระการคลังสูงเกินไปจนกระทบกับเสถียรภาพและหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รวมถึงภาระหนี้ต่องบประมาณจะต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป โดยในส่วนของไทยปัจจุบันภาระหนี้ต่องบประมาณยังอยู่ในสัดส่วน 8.5% และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 8.75% แต่หากมีการทำนโยบายใช้จ่ายที่กระตุ้นภาระหนี้ให้สูงมากกว่า 10% ประเทศก็อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ 4. เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ก็ต้องทำนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้ผิดวินัยการชำระหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ
“นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่รูปแบบ วิธีการในแต่ละนโยบาย แต่ในมุมของ ธปท. เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น แต่ควรที่จะให้น้ำหนักในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการได้ผลในระยะสั้น ส่งผลค้างเคียงให้เกิดภาระหนี้ตามมา จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะเร่งผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มาตรการพักหนี้ไม่ควรใช้อย่างยาวนาน เนื่องจากภาระของลูกหนี้ไม่ได้ลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยยังเก็บตามปกติ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการดังกล่าว เพราะทุกอย่างหยุดชะงักทั้งหมด จึงต้องทำมาตรการแบบวงกว้าง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็เห็นว่าการทำนโยบายพักหนี้แบบทอดแหไม่ดีแน่ ต้องปรับเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ แบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเสียวินัยในการชำระหนี้ และต้องไม่ทำอะไรที่กระทบกับความสามารถในการขอสินเชื่อในอนาคตของลูกหนี้ด้วย
ทั้งนี้ในระยะต่อไป ธปท. จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นภาพใหญ่ โดยจะเน้นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้อย่างแท้จริง รวมถึงมีการให้ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องและชัดเจนควบคู่กันไปด้วย
สำหรับทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องมีการพิจารณาข้อมูลประกอบอย่างรอบคอบ ส่วนจะให้พูดว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะสิ้นสุดเมื่อไหร่คงไม่เหมาะสม แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุดที่ 2.8% จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ก็เป็นการปรับเข้ากรอบเพียงเดือนเดียว โดยขอไม่แสดงความคิดเห็นในส่วนที่ กนง.จะมีการพิจารณาความเหมาะสมว่าอัตราเงินเฟ้อควรจะปรับเข้ากรอบกี่เดือน
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าสู่โหมดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.6% ซึ่งมองว่าระดับการเติบโตของจีดีพีกลับเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 1/2566 โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คือ ท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 ล้านคนและการบริโภคภาคเอกชนที่บางช่วงอาจจะชะลอลงบ้าง แต่ในภาพรวมยังขยายตัวได้และยังไม่เห็นสัญญาณดร็อปลง ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่ก็ยังเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งออกจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ราว 4% จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 7% รวมถึงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้เกิน 4%
ดังนั้น การดำเนินนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังจึงแตกต่างกับในช่วงโควิด-19 ที่ต้องจัดเต็ม แต่ขณะนี้มาตรการที่ออกมาจะต้องเน้นในการดูแลเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่ากระตุ้นให้ขยายตัว โดยนักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องเสถียรภาพเป็นหลัก ที่ต้องมาจากหลายอย่างด้วยกัน ทั้งเสถียรภาพฝั่งการคลัง เสถียรภาพด้านราคา (อัตราเงินเฟ้อ) เสถียรภาพในระบบสถาบันการเงินที่ต้องเข้มแข็ง เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าขณะนี้เรื่องเสถียรภาพสำคัญที่สุด มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องจับตา คือปัญหาในตลาดการเงินโลกและระบบธนาคารยังไม่จบ แม้ว่าสถานการณ์ในระบบธนาคารของประเทศขนาดใหญ่จะคลี่คลายลง แต่จะฟันธงว่าปัญหาจบหรือยังคงเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าน้ำลด ตอผุด เนื่องจากอาจจะมีธนาคารอื่นที่ดำเนินนโยบายการลงทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมายาวนาน ขณะที่ปัจจุบันเริ่มมีช่องว่างจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ขณะนี้ยังไม่เห็น แต่มองไปข้างหน้าโอกาสที่ปัญหาเหล่านี้ที่มาจากดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรงอาจจะเกิดขึ้นได้อีก แต่คงตอบยากว่าปัญหาจะไปเกิดที่ไหน ส่วนในประเทศยังต้องจับตานโยบายภายในให้ดี อะไรที่เป็นนโยบายกระทบเสถียรภาพอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจข้างหน้าได้
ผู้ว่า ธปท. ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ว่า หนี้ครัวเรือนตอนนี้ไม่ใช่หนี้ทั้งหมดที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้กว่า 60% มีการใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แต่ส่วนที่ต้องจับตาดูคือฝั่งที่เป็นผลกระทบต่อลูกหนี้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนผลกระทบต่อเจ้าหนี้ โดยเฉพาะฝั่งธนาคารพาณิชย์นั้นยังไม่เห็น เนื่องจากมีการสำรองอย่างเพียงพอ แต่อยากให้สบายใจในระดับหนึ่งว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะไม่ลามไปเป็นปัญหาเสถียรภาพต่อระบบการเงินโดยรวม แต่การที่ระดับหนี้ครัวเรือนสูงและลงช้านั้นจะเป็นตัวถ่วงให้เศรษฐกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้ลำบาก ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบครบวงจร ถูกหลักการ และต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ในการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น ธปท. จะต้องมีการหารือในภาพรวมกับสถาบันการเงินก่อนว่าค่าฟีต่าง ๆ ที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร จะต้องมีการตกลงในหลักการและแนวทางว่าแต่ละธนาคารมีนโยบายอย่างไร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องยอมรับว่าเรื่องค่าฟีมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักกฎหมาย ชี้ไม่ง่าย 'โต้ง' ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะแทรกแซงผู้ว่าแบงก์ชาติ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นตัวแทนฝ่
'รวมแผ่นดิน' เปลี่ยนชื่อใหม่พรรคก้าวอิสระ 'มาดามหยก' นั่งหัวหน้า 'แว่น สิริรัตน์' โฆษก
นายมาโนช อุณหกาญจน์กิจ รองหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน เป็นประธานจัดการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2567 สืบเนื่องจาก นายมนตรี พรมวัน ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อไปลงเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ต้องมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค
'แพทองธาร' นำประชุมใหญ่สามัญเพื่อไทย 19 พ.ย. ยังไม่ปรับโครงสร้างพรรค
พรรคเพื่อไทย (พท.) มีกำหนดการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พรรค พท. เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรค ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รัฐบาลดี๊ด๊า! เปิดทำเนียบฯ รับม็อบเชียร์ 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 'รองเลขาฯนายกฯ' รีบหอบส่ง ธปท.ทันที แย้มวันนี้ไม่เลื่อนแล้ว
ม็อบบุกแบงก์ชาติ ยื่นอีก 5 หมื่นชื่อ ขวางการเมืองจุ้นเลือก 'ปธ.บอร์ด'
คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมหน้าแบงก์ชาติ เพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.