45 ปีความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม: มุมมองจากมิติทางด้านการศึกษา

ปี 2564 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและเวียดนามเนื่องจากเป็นวาระแห่งการครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ชาติ กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 หรือเมื่อเกือบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้นเปรียบเสมือนแสงอรุณแห่งความหวังในการสร้างมิตรภาพระหว่างสองประเทศภายหลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามเหนือซึ่งเป็นผู้ประกาศชัยชนะในสงครามรวมชาติและจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามขึ้นในปี 2518 นั้นได้ดำเนินไปในลักษณะของคู่ตรงข้ามมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม จากนั้น การเดินทางเยือนประเทศไทยของ ฯพณฯ ฝ่ามวันด่ง อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนามในปี 2521 ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีของไทยยิ่งตอกย้ำถึงบรรยากาศแห่งมิตรภาพที่กำลังจะแตกหน่ออ่อนอันเปี่ยมด้วยความหวัง กระนั้น การที่กองทัพเวียดนามได้บุกเข้าโจมตีและปลดปล่อยกัมพูชาจากกลุ่มเขมรแดงก็ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักไสให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามกลับสู่สภาวะคู่ตรงข้ามอีกครั้งไปจนกระทั่งเวียดนามถอนกำลังทหารออกจากกัมพูชาและการยุติลงของสงครามเย็นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990

ภายหลังการประกาศนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจโด่ยเหมยโดยฝ่ายเวียดนามในปี 2529 การประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าโดยฝ่ายไทยในปี 2531 และการสิ้นสุดของสงครามเย็น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามได้รับการยกระดับขึ้นตามลำดับ จากนั้น ไทยและเวียดนามได้กระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ค้างคาให้ลุล่วงไปหลายประการ เช่น การแก้ปัญหาชาวเวียดนามอพยพ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสองประเทศ ผู้นำไทยแสดงท่าทีสนับสนุนให้อเมริกายกเลิกการงดติดต่อทางเศรษฐกิจกับเวียดนาม (Economic Embargo) สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น (Post Cold War) และการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนนิยมโลกมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามมีความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น ในปี 2538 ไทยในฐานะสมาชิกแรกเริ่มได้สนับสนุนให้เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน ในปี 2547 ไทยและเวียดนามได้จัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่าง 2 ชาติ และได้มีการเปิดหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนามที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม ในปี 2556 ทั้งสองฝ่ายยังได้ยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ในช่วงต้นทศวรรษ 2560 ไทยกลายเป็นชาติผู้ลงทุนอันดับที่ 9 จาก 139 ชาติทั่วโลกที่ลงทุนในเวียดนามและยังเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามภายในภูมิภาคอาเซียน มูลค่าการค้าระหว่างสองชาติเพิ่มขึ้นจากสามพันห้าร้อยล้านบาทในปี 2534 เป็น ห้าแสนสองหมื่นล้านบาทในปี 2563

ทางด้านความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทยและเวียดนามภายหลังยุคสงครามเย็น ในช่วงแรก ความร่วมมือดำเนินไปในลักษณะที่ไทยเป็นฝ่ายให้การสนับสนุนเวียดนามผ่านโครงการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่ประเทศอินโดจีน ในระหว่างปี 2538 – 2541 ไทยได้ให้ความช่วยเหลือเวียดนามรวม 4 โครงการคิดเป็นมูลค่า 35 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2537 ไทยยังได้อนุมัติทุนให้แก่เจ้าหน้าที่เวียดนามจำนวน 50 ทุน แบ่งเป็นทุนระยะสั้น 40 ทุน และทุนการศึกษาระดับปริญญาโท 10 ทุน นอกจากนั้น กรมวิเทศสหการยังให้ทุนฝึกอบรมและดูงานแก่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงเวียดนามประมาณปีละ 30 – 35 ทุน ความร่วมมือในช่วงทศวรรษแรกหลังสงครามเย็นมีลักษณะที่ไทยเป็นฝ่ายสนับสนุนเวียดนามเป็นหลักโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือมิตรประเทศและการสร้างทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยให้แก่ชาวเวียดนามที่ได้รับทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ประเทศเวียดนามได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวหน้ายิ่งขึ้น เวียดนามก็เริ่มเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณและโครงการทางด้านการศึกษาแก่ประเทศไทย เช่น การสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างศูนย์มิตรภาพนครพนม-ฮานอยเพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเวียดนาม การจัดโครงการฝึกอบรมการสอนภาษาเวียดนามให้แก่ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม การสนับสนุนทุนการศึกษาและการทัศนศึกษาประเทศเวียดนามให้แก่บุตรหลานชาวไทยเชื้อสายเวียดนามและนักเรียนไทยที่ได้ศึกษาภาษาเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระหว่างไทยและเวียดนามได้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากฝั่งประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ นักศึกษาเวียดนามที่เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยมีจำนวนมากกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาไทยที่เดินทางไปเรียนในเวียดนาม จากการสำรวจพบว่า นักศึกษาเวียดนามได้เดินทางเข้ามาศึกษาในเกือบทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้นักศึกษาเวียดนามจากพื้นที่ภาคกลางของเวียดนามจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานเมื่อกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นเกิดจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ กอปรกับกระแสการพัฒนาภายใต้บริบทของการเชื่อมโยงพื้นที่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก อีกทั้งจำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเวียดนามยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการศึกษาต่อของนักเรียนในพื้นที่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้นักศึกษาเวียดนามได้เดินทางเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนักและสามารถเดินทางจากเวียดนามด้วยเส้นทางสัญจรทางบก เช่น มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา คาดว่ามีนักศึกษาชาวเวียดนามที่เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาในอีสาน โดยได้รับทุนการศึกษาจากประเทศไทย และทุนทรัพย์ส่วนตัวไม่ต่ำกว่า 2 พันคน นอกจากนั้นยังมีนักศึกษาชาวเวียดนามจำนวนมากที่เข้ามาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนในกรุงเทพมหานคร กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้กลับไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ เกษตรกร มัคคุเทศก์ ธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีทรัพยากรบุคคลซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมไทย รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวไทยจำนวนมาก

จากการสำรวจข้อมูลเชิงสถิติในปี 2563 พบว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาเวียดนามกำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยทั้งสิ้น 930 คน แบ่งเป็น ระดับปริญญาตรี 557 คน ประกาศนียบัตรบัณทิต 2 คน ปริญญาโท 208 คน และปริญญาเอก 163 คน สังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 539 คน และสังกัดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวน 391 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวก็ยังมีจำนวนไม่มากนักหากเทียบกับจำนวนนักศึกษาเวียดนามประมาณ 190,000 คนที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ โดยทวีปที่มีนักศึกษาเวียดนามมากที่สุด ได้แก่ ทวีปเอเชียประมาณ 70,000 คน แบ่งเป็น เกาหลีใต้ 37,500 คน ญี่ปุ่น 38,000 คน จีน 11,299 คน ทวีปอเมริกาประมาณ 50,000 คน แบ่งเป็น อเมริกา 29,000 คน แคนาดา 21,000 คน ทวีปยุโรปประมาณ 40,000 คน แบ่งเป็น อังกฤษ 12,000 คน เยอรมัน 7,500 คน ฝรั่งเศส 6,500 คน รัสเซีย 6,000 คน ฟินแลนด์ 2,500 คน ฯลฯ และทวีปออสเตรเลีย 32,000 คน แบ่งเป็น ออสเตรเลีย 30,000 คน และนิวซีแลนด์ 2,500 คน ข้อมูลจากฝ่ายเวียดนามระบุว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 2010 ค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาในต่างประเทศของบุตรหลานชาวเวียดนามในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้นปัจจัยทางเศรษฐกิจเชิงบวกและจำนวนประชากรชาวเวียดนามที่เพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มในการส่งออกบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่สำคัญบางประเด็นว่า 1) ชาวเวียดนามที่มาศึกษาในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าชาวไทยที่ไปศึกษาในประเทศเวียดนาม ดังนั้น ทรัพยากรบุคคลของไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในประเทศเวียดนามอาจจะมีจำนวนน้อยมากหากเทียบกับจำนวนชาวเวียดนามที่มีความรู้ความเข้าใจในประเทศไทย นอกจากนั้น บริษัทสัญชาติไทยที่มีแนวโน้มในการหันไปลงทุนในประเทศเวียดนามมากขึ้นแม้ว่าจะมีความต้องการในการจ้างงานคนไทยแต่อาจต้องหันไปจ้างงานชาวเวียดนามที่มีความรู้ความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมไทยซึ่งมีจำนวนมากกว่าชาวไทยที่มีความรู้และความเข้าใจในประเทศเวียดนาม แนวทางสำคัญประการหนึ่งจึงควรส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม รวมถึงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับไทยมากยิ่งขึ้น 2) การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรได้ส่งผลให้กระแสการส่งบุตรหลานไปเรียนในต่างประเทศของชาวเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวมากยิ่งขึ้น นักเรียนชาวเวียดนามที่มีความประสงค์เรียนต่อในต่างประเทศอาจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับสถาบันการศึกษาของไทยจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานักศึกษาในประเทศลดลง หน่วยงานด้านการศึกษาไทยอาจจะต้องปรับทิศทางความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทยและเวียดนาม โดยการหันไปให้ความสำคัญกับการปรับปรุงตัวบทกฎหมาย นโยบาย แผนการตลาด และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการศึกษาให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะต้องศึกษาแนวทางจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักศึกษาเวียดนามในทวีปอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย ทั้งนี้ แนวทางสำคัญบางประการ เช่น การอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติสามารถทำงานเพื่อหารายได้ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดและไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานภายในประเทศ การออกแบบหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและเวียดนาม การออกแบบหลักสูตรระยะสั้น หรือ การยอมรับการเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ระหว่างกัน เป็นต้น

ดร.สุริยา คำหว่าน

สาขามานุษยวิทยา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามหลังยุคเหงียนฝูจ่อง

ผลข้างเคียงจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านส่งผลให้เวียดนามต้องประสบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆ ของสังคมไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคฯ รัฐบาล

เหลียวหลังแลหน้า 1 ทศวรรษความสัมพันธ์ขั้นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม

ไทยและเวียดนามเป็น 2 ชาติที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป  ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่สมัยรัฐจารีตจนถึงปัจจุบัน  กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยภายใต้บริบทการเมืองระดับโลก ระดับภูมิภาค และและปัจจัยทางการเมืองในแต่ละประเทศ  ในปี ค.ศ. 2023 ถือเป็นวาระแห่งการครบรอบ 47 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เวียดนาม และการเฉลิมฉลอง 1 ทศวรรษแห่งการยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง

นายกฯ หารือ ปธน.เวียดนาม ย้ำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง พร้อมผลักดันศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมภริยา ต้อนรับนายเหวียน ซวนฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และภริยา

'ทูตนริศโรจน์' เผยเวียดนามลงดาบ 'มิสแกรนด์ฯ' ชู 3 นิ้ว หวั่นกระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับทราบจาก น้องๆที่ทำงานที่เวียดนามส่งข่าวด่วน