10 ธนาคารพาณิชย์แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2566 กำไรสุทธิรวม 60,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,130 ล้านบาท หรือ 13.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้าน SCB กำไรสูงสุด ส่วน BBL เพิ่มขึ้นกว่า 3,011 ล้านบาท และ KBANK ลดลง 470 ล้านบาท
21 เม.ย. 2566 – รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลท.รวม 10 แห่ง ได้แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2566 โดยมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 60,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,130 ล้านบาท หรือ 13.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 53,008 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารที่มีผลกำไรมากที่สุดในไตรมาสแรกคือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) อยู่ที่ 10,995 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) อยู่ที่ 10,741 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) อยู่ที่ 10,129 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) อยู่ที่ 10,067 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) อยู่ที่ 8,676 ล้านบาท
สำหรับธนาคารที่มีผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมีจำนวน 7 แห่ง โดยธนาคารที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ BBL เพิ่มขึ้น 3,011 ล้านบาท KTB เพิ่มขึ้น 1,287 ล้านบาท BAY เพิ่มขึ้น 1,258 ล้านบาท และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) เพิ่มขึ้น 1,100 ล้านบาท ส่วนธนาคารที่มีผลกำไรสุทธิลดลงมีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ KBANK ลดลง 470 ล้านบาท ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) ลดลง 231 ล้านบาท และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) ลดลง 2 ล้านบาท
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสแรกสะท้อนถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น โดยธุรกิจธนาคารยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์เพื่อเป็นธนาคารที่ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้จ่ายเงินปันผลในอัตรา 60% ของกำไรสุทธิปี 2565 เพื่อปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK กล่าวว่า ไตรมาสแรก ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4.19% ทั้งนี้ ยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2565 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง