ผงะ!! พบหมูเถื่อน 4 ล้าน กก. ในตู้ตกค้างท่าเรือแหลมฉบังเกษตรกรเครียดจัด ร้องขอตั้ง “คณะทำงานร่วมกรมศุลฯ” ทันที
19 เม.ย. 2566 –นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภาคทั่วประเทศและผู้แทนกลุ่มเกษตรกร เข้ารับฟังมาตรการป้องกันหมูเถื่อนของกรมศุลกากร ณ ท่าเรือแหลมฉบัง หลังพบหมูเถื่อนระบาดหนักกระจายขายทั่วไทย และถึงกับตกใจเมื่อรับทราบข้อมูลการเปิดตู้ตกค้างจำนวน 189 ตู้แล้วพบเป็น “หมูเถื่อน” ทั้งเนื้อและชิ้นส่วนจำนวนมหาศาลถึง 140 ตู้ หรือราว 4 ล้านกิโลกรัม รวมตัวเรียกร้องตั้ง “คณะทำงานร่วมรัฐ-เกษตรกร” แก้ปัญหาด่วน
“ตัวเลขหมูเถื่อนที่ตรวจพบในตู้มีจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนที่เล็ดลอดออกสู่ท้องตลาดนั้นย่อมมากมายกว่านี้มาก จึงส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อราคาหมู ทำให้เกษตรกรไทยต้องเดือดร้อนและเข้าสู่ภาวะขาดทุน ทำไมภาครัฐจึงไม่สามารถจัดการปัญหาให้เด็ดขาดได้ ยิ่งได้มาเห็นมาตรการต่างๆที่กรมศุลฯอธิบาย ยิ่งเข้าใจว่าถ้าทำได้ตามนี้จริงๆ ไม่มีทางเลยที่ของผิดกฏหมายจะเข้ามาได้ขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยและน่ากังวลมาก” นายสุรชัยกล่าว
นายสุรชัยเสนอให้มีการตั้ง “คณะทำงานร่วมรัฐ-เกษตรกร” โดยมีกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล บริหารจัดการ และทำงานร่วมกันในการสกัดช่องทางการนำเข้า เป็นการจัดการปัญหาหมูเถื่อนก่อนเข้าสู่ประเทศไทยให้ได้ผลที่สุด ทั้งนี้เพื่อรักษาอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้คงอยู่ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย เพราะหากหมูเถื่อนยังสามารถลักลอบผ่านช่องทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นด่านใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นจำนวนมหาศาลอย่างไม่เกรงกลัวกฏหมายเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีกับเกษตรกรและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง
ด้าน ผู้บริหารส่วนบริการศุลกากร กรมศุลกากร ให้รายละเอียดว่า กรมศุลฯ ทำหน้าที่ป้องกันสินค้าผิดกฏหมาย ไม่ให้เข้ามาในอาณาเขตประเทศไทย โดยมีขั้นตอนและกระบวนการนำเข้า-ส่งออกดังที่ได้อธิบายให้คณะได้รับทราบ ยืนยันว่าระบบตรวจสอบ เข้มงวด มีความรัดกุม อย่างไรก็ตาม แม้กรมศุลกากรจะทราบชื่อของชิปปิ้งหรือผู้นำเข้าตามที่ระบุในเอกสาร แต่ในขั้นตอนกฏหมาย กรมมีหน้าที่เพียงยึดสินค้าผิดกฏหมายไว้เท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีใดๆ และสำหรับของกลางหมูเถื่อน 4 ล้านกิโลกรัมที่อยู่ในตู้ตกค้างนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนของการส่งมอบให้กรมปศุสัตว์รับไปทำลายต่อ นอกจากนี้จะเร่งนำข้อเสนอตั้ง “คณะทำงานร่วมรัฐ-เกษตรกร” ต่อท่านอธิบดีทันที ด้วยมีความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดกับเกษตรกร ตลอดจนอุตสาหกรรมสุกรของประเทศ
อนึ่ง ปัญหาการลักลอบนำเข้าสุกรผิดกฏหมายเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปี เป็นหมูแช่แข็งจากประเทศแถบอเมริกาใต้ที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้เสรี รวมถึงเป็นหมูจากประเทศแถบยุโรปที่กำลังเกิดโรคระบาด ASF ลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ไม่มีการตรวจสอบสารปนเปื้อนตกค้าง และไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารสำหรับผู้บริโภคไทย การระบาดของหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลยังเป็นการเบียดเบียนตลาดสุกรในประเทศ บิดเบือนกลไกตลาด และทำให้เกษตรกรไทยถูกกดราคาหน้าฟาร์ม นำไปสู่ภาวะขาดทุนและอาจต้องเลิกอาชีพในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ หารือ 'ธรรมนัส' แก้ราคาหมูตกต่ำ แม้ปราบหมูเถื่อนแล้ว แต่ยังไม่ขยับขึ้น
หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับสื่อมวลชน ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เสร็จสิ้น นายกฯได้กลับขึ้นไปบนห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 เพื่อทักทายคณะรัฐมนตรี (ครม.)
'ดีเอสไอ' ชง ป.ป.ช. ฟันทุจริต 4 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร-ปศุสัตว์ เอี่ยวนำเข้าหมูเถื่อน
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม
ยื่นศาลยึดทรัพย์ คดีหมูเถื่อนเเล้ว 2 สำนวนกว่า 100 ล้านบาท
ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้แถลงความคืบหน้าของคดีกลุ่มขบวนการนำเข้า