17 เม.ย. 2566 – เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย นำโดย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาลและภาคเอกชน ณ ประเทศเอสโตเนีย ทั้ง e-Governance หรือระบบการจัดการประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาลเอสโตเนีย และศึกษาดูงานบริษัท Cybernetica และ Guardtime ซึ่งเป็น 2 บริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศเอสโตเนียไปสู่ดิจิทัล หรือ e–Estonia
สาเหตุที่ธนาคารกรุงไทยเลือกไปดูงานที่ “เอสโตเนีย” แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปเหนือคาบสมุทรบอลติก ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน แต่ก็เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างชาติ ภาครัฐให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มากถึง 99% มีโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและความมั่นคงทางไซเบอร์ มีกฎหมายการใช้เอกสารยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัล ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย
ยกตัวอย่างเช่น มีบัตรประชาชนเพียงใบเดียวสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งการใช้บริการภาครัฐ การยื่นภาษี การทำธุรกรรมกับธนาคาร รวมถึงการเลือกตั้งที่โปร่งใสผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังเอื้อให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ เพราะสามารถจัดตั้งบริษัทในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ขณะเดียวกันยังแก้ปัญหาของรัฐ คือ ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะหลังจากที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประเทศเอสโตเนียประสบปัญหาคอร์รัปชันและขาดแคลนทรัพยากร และยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการภาครัฐ เพราะเอสโตเนียเป็นประเทศเล็กทำให้มีต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐสูง ไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีประชากรจำนวนมาก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของธนาคาร ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์สูงสุดในองค์กร โดยจากการดูงานมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และการป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เป็นต้น ซึ่งต้องมีการศึกษาและหารือในรายละเอียดต่อไป
“การมาดูงานด้านดิจิทัลที่เอสโตเนียอาจจะนำบางเรื่องให้ทีมมาลองทำในแซนด์บ็อกซ์ เช่น Blockchain ระบบใหม่, Cybersecurity นอกจากนี้ส่วนที่น่าสนใจคือ ภาคธุรกิจเอกชนของเอสโตเนียได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและอียู หลายบริษัทสามารถสร้างการยอมรับได้ รัฐบาลมองเอกชนเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์หลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศเอสโตเนียและอียู ยกระดับเป็น Digital Economy ให้ได้ เราเห็นว่าเอกชนของเอสโตเนียเติบโตและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ Identity, Blockchain, Cybersecurity ซึ่งใช้เวลาในการเติบโตสร้างองค์ความรู้ ลองผิดลองถูก โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน และเป็นการลงทุนใช้ทรัพยากรที่ไม่ซ้ำซ้อน ทุกคนมีที่ยืน มีสนามให้เล่นในศักยภาพตัวเอง”
ในโอกาสนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจธนาคารกรุงไทยในระยะต่อไปว่า อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ที่เปิดกว้างใน 3 ด้าน คือ
ข้อ 1 Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่และผู้เล่นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรม
ข้อ 2 Open Data ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล เช่น การสนับสนุนให้มีธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เป็นต้นข้อ 3 Open Competition ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่สุด จากการแข่งขันที่เปิดกว้างจากผู้เล่นใหม่ เส้นแบ่งการแข่งขันระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่แยกกันไม่ออก
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย กำหนดแผนงาน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมทั่วถึงแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
1.ปลดล็อกศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ทั้ง B2B B2C G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า ทั้งการเร่งสร้าง Economic Value จากแอปเป๋าตัง และถุงเงิน เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่ง ต่อยอดความร่วมมือที่ได้ลงทุนไปแล้วทั้งระบบ Smart Transit ตั๋วร่วม Smart Hospital และ Digital Business Platform เป็นต้น
2.ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ Robotic Process Automation และการใช้ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ (Paperless) นำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา ผสมผสานการให้บริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้เต็มศักยภาพ โดยช่องทางสาขาจะถูกปรับเป็นการให้บริการทางธุรกิจ และอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ EEC
3.เปิดตัวแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจร ทั้ง Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตรเพื่อดำเนินการ และ Wealth-Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น ต่อยอดสร้างศักยภาพการออม เสริมสร้างความมั่งคั่งให้คนไทย
4.สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SME กับ Digital Economy และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
5.พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหา ปรับเป็นสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าในเวลารวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการบริษัทในเครือ สร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เต็มศักยภาพ บนความร่วมมือแบบ ONE Krungthai
6.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
7.ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความกระฉับกระเฉง โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Fast Learn Fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill/Reskill) สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต
ทั้ง 7 ยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารกรุงไทยมุ่งหน้าสู่ปี 2070 โดยเน้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม สร้าง Economic Value โดยโครงสร้างกำไรสุทธิต้องมาจากต้นทุนและรายได้ที่เหมาะสม โดยครอสกับทุกบริษัทในเครือทั้งหมด
นอกจากนี้ ภายใต้การดูงานที่ประเทศเอสโตเนีย ธนาคารกรุงไทยยังเชิญชวนสื่อมวลชนเปิดประสบการณ์การใช้บัตร Krungthai Travel Card ใช้จ่ายในร้านค้า ร้านอาหาร แทนเงินสด ทำให้ไม่ต้องถือเงินสดในต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอนที่อาจได้รับคืนเป็นเหรียญและนำกลับมาแลกเป็นเงินไทยไม่ได้
ข้อดีของบัตร Krungthai Travel Card คือ สามารถแลกเงินสกุลหลักต่างๆ กว่า 20 สกุลเงินเก็บไว้ในบัตรในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดี และเมื่อนำเงินไปใช้ในต่างประเทศจะหักเงินตรงตามสกุลเงินที่แลกไว้ ทำให้ไม่เกิดส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน และไม่มีค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งแตกต่างจากบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต รวมทั้งการขายคืน และตรวจสอบยอดการใช้จ่าย เปิดและปิดการใช้บัตรชั่วคราวได้ด้วยตัวเองตลอดเวลาผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT
นอกจากเรื่องใช้จ่ายทางด้านท่องเที่ยวแล้ว บัตรนี้ยังเหมาะสมกับผู้ถือบัตรที่ไปต่างประเทศเพื่อการศึกษา ธุรกิจ รวมถึงครอบครัวที่เดินทางเป็นกลุ่ม รวมถึงครอบครัวที่ส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศและต้องการควบคุมการใช้จ่ายของบุตรหลาน สามารถออกบัตรเสริมให้กับบุตรหลานได้
สำหรับขั้นตอนการสมัครบัตร Krungthai Travel Card ก็ทำได้ง่ายๆ สะดวก สมัครผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ได้ทันที หรือสมัครได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ
จะได้เห็นได้ว่า ประเทศเอสโตเนีย ที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ได้สำเร็จ กระทั่งพลิกประเทศและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้พลเมืองมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สำคัญที่สุดคือ ยังปฏิวัติโลกทางธุรกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัด นับเป็นโมเดลที่ควรนำกลับไปศึกษาและเรียนรู้ต่อยอดอย่างยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พิพัฒน์” ลุยเพื่อแรงงาน ถกประกันสังคมเอสโตเนีย ยกระดับบริการให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท