“อาคม” การันตีปี 65 จีดีพีที่ 4% ไม่ไกลเกินเอื้อม ปักหมุดอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านบาท เดินหน้าเข็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เล็งกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ-ค้าชายแดน ชี้นโยบายการคลังยังจำเป็นช่วยสร้างความเชื่อมั่น ส่วนปี 64 ประเมินจีดีพีโตไม่ต่ำ 1% ส่งออกพระเอกคาดทะยาน 17% สูงสุดในรอบ 12 ปี
30 พ.ย. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า มองทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 65” ในงานเสวนาออนไลน์ “(นาที)ลงทุน โค้งสุดท้ายปี64” ว่า รัฐบาลได้เปิดประเทศมาแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายแบบคู่ขนาน สร้างความสมดุลในการดูแลเศรษฐกิจคู่กับการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ แม้ต้องยอมรับว่าในปี 2564 ภาคการท่องเที่ยวจะยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ก็ยังมีภาคการส่งออกยังเติบโตได้ดี โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวได้อย่างน้อย 1%
ขณะที่คาดว่าการส่งออกที่ตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงปัจจุบันสามารถรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยได้ 15% ทำให้คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2564 ตัวเลขการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ 17% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี ขณะที่มาตรการภาครัฐในการเยียวยา และบรรเทาภาระของประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน และเราชนะ รวมถึงโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่าง ชิมช้อปใช้, ช้อปดีมีคืน, คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็ช่วยให้การใช้จ่ายของประชาชนยังขยายตัวได้ แม้จะไม่เต็มร้อยก็ตาม
“ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น 12% ของจีดีพี ปีนี้การจะคาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโต 40 ล้านคนเหมือนปี 2562 คงไม่ได้ ส่วนวิกฤติโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 2 ก็คาดว่าใกล้จะจบ และทุกคนคงไม่ต้องการเห็นสถานการณ์เหมือนปี 2563-2564 ที่ต้องจำกัดตัวเอง จำกัดการออกจากบ้าน การทำธุรกิจ ทุกคนอยากมีรายได้ มีงานทำ มีอาชีพ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ขณะที่เศรษฐกิจก็จำเป็นต้องเดินคู่ขนานไปกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 และเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น มาตรการที่รัฐบาลเข้าไปช่วยในการเยียวยาหรือกระตุ้นการใช้จ่ายก็อาจจะลดน้อยลงไป แต่ในภาพรวมเป็นเรื่องที่ต้องดูในปี 2565” นายอาคม กล่าว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4% นั้น ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ใช้ได้ในช่วงของการฟื้นตัว โดยรัฐบาลยังมองวาในปีหน้ามาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินของรัฐบาลผ่านงบประมาณต่าง ๆ ยังมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ โดยในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านาท จากงบลงทุน 6 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เหลืออีกราว 3 แสนกว่าล้านบาท จะเข้าไปหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระบบขนส่งมวลชน ผ่านโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ใน กทม. ซึ่งยืนยันว่าการลงทุนยังเป็นไปตามแผน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ผ่านนโยบายสำคัญคือการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะมีความชัดเจนในต้นปี 2565 ซึ่งในส่วนนี้จะมีมาตรการด้านการคลังเข้ามาช่วยเพื่อทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาปเพื่อลดการปล่อยก๊าซ Co2 ขณะเดียวกันจะเพิ่มความเข้มข้นในการดึงระบบดิจิทัลเข้ามารองรับการให้บริการของภาครัฐ และตลาดทุนเองก็มีการพัฒนาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี และดิจิทัลแอสเซ็สที่มีความคึกคักอย่างมาก
“ปีหน้าการเติบโตภายใต้จีดีพีที่ 4% นั้น สิ่งที่ต้องการคือ การเติบโตที่ทั่วถึง กระจายในทุกหย่อมหญ้า ไม่ใช่เฉพาะโมเดิร์นเซ็กเตอร์ อย่างอีอีซี หรือ 12 อุตสาหกรรมใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องคิดถึงเศรษฐกิจชุมชนที่จะเป็นตัวสร้างฐานรายได้ให้กับประเทศอย่างมั่นคงในอนาคต โดยมองว่านโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) นั้น ไม่เพียงจะตอบสนองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรด้วย โดยเฉพาะพืชสมุนไพร” นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการเดินทาง เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่อุปทาน จะช่วยทำให้เศรษฐกิจต่างจังหวัดเติบโตได้ ขณะเดียวกันการค้าชายแดนก็เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้นการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ยังมีความสำคัญในเชิงกายภาพ
“การจะทำให้เศรษฐกิจเดินคู่กับโควิด-19 ได้ต้องอาศัยความร่วมมือ การ์ดตกไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ อย่างโอไมครอน การติดตาม การตรวจอย่างเข้มข้นยังจำเป็น หากไม่ป้องกันคงยากจะเห็นเศรษฐกิจเดินไปคู่ขนานกับโควิด-19 ส่วนเศรษฐกิจต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผมเชื่อว่าในปีหน้าถ้าหากเรารวมพลังทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจยืนอยู่ได้ และเติบโตได้ จีดีพี 4% ไม่ไกลเกินเอื้อม” นายอาคม ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%