ก.อุตฯ ปลื้มตลาดอีวีแรง สะท้อนยอดจองงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ถึง 9,234 คัน ชี้ไทยเนื้อหอม ยักษ์ใหญ่รถยนต์อีวีจีนเตรียมลงทุนเพิ่ม ลั่นหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มกำลัง
5 เม.ย. 2566 – นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ที่ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2566 ว่า บรรดาค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาร่วมออกบูธกว่า 40 ค่าย มีผู้เข้าชมงาน 1,620,459 คน และมียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 42,885 คัน เติบโตขึ้น 34.45% เมื่อเทียบจากปี 2565 ที่ผ่านมา โดยในจำนวนยอดจองล่าสุดของปีนี้ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อยู่ที่ 9,234 คัน คิดเป็น 21.53% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมดภายในงาน ซึ่งการที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายที่น่าสนใจ
“ในปี 2566 นี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยคึกคักมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะกลับมาเติบโต โดยเฉพาะกับตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าปีที่ผ่านมา จากกระแสความสนใจของผู้บริโภคที่ให้การยอมรับและมีความเชื่อมั่นในรถยนต์อีวีมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สะอาด ประหยัด และปลอดภัย ซึ่งตลาดรถยนต์อีวีในไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน ล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน GAC AION ได้ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี และยังวางแผนขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย”นายณัฐพล กล่าว
ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ รวมทั้งสิ้น 128 มาตรฐาน และมีการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ ศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาค ASEAN ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์และชิ้นส่วนต้นแบบ การทดสอบยางล้อ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบมากขึ้น
รวมทั้งจัดทำ Eco Sticker หรือป้ายแสดงข้อมูลของรถยนต์ตามมาตรฐานสากล โดยข้อมูลในป้ายจะบ่งบอกคุณลักษณะที่สำคัญของรถยนต์ 5 ส่วน ได้แก่ สมรรถนะรถยนต์ ข้อมูลพื้นฐานของรถยนต์ข้อมูลผู้ผลิต/นำเข้า รายการอุปกรณ์ที่ติดตั้งจากโรงงาน และราคาขายปลีก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของรถยนต์แต่ละรุ่นได้ โดยพิจารณาจากสมรรถนะในด้าน “สะอาด ประหยัดและปลอดภัย” ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค. 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีการพิจารณาออกใบ Eco Sticker สำหรับรถยนต์ ไปแล้ว 17,136 ใบ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิชัย’ เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา
‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ถกสภานโยบายอุดมศึกษาฯ หวังพัฒนาองค์ความรู้ขั้นสูง
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
GAC AION ปักหลักประเทศไทย เปิดโรงงานผลิต มุ่งเป็นฮับการผลิตและส่งออกทั่วโลก
บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) หรือ GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะระดับโลกสัญชาติจีน
นายกฯ เชื่อมั่น ปี 67 มียอดการลงทุนสูงขึ้น เตรียมแผนเชิงรุกดึงดูดต่างชาติ
นายกฯ เชื่อมั่น ปี 67 มียอดการลงทุนสูงขึ้น เตรียมแผนเชิงรุกดึงดูดต่างชาติกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หวังพลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจใหม่