มอก.คุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยเร่งเครื่องศูนย์ทดสอบยานยนต์หนุนลงทุนอีอีซี

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ มีภารกิจหลักคือ การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นด้วยการมาตรฐาน และการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หนึ่งในภารกิจสำคัญที่รัฐบาลมอบหมายให้คือ การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ ATTRIC เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน โดยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การเป็น “Super Cluster” อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และ “อุตสาหกรรม 4.0” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ

สำหรับ ATTRIC นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนกว่า 3,705 ล้านบาท ซึ่งศูนย์ดังกล่าวนั้นจะให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะด้านการทดสอบและการรับรอง การวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงแหล่งวัตถุดิบ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้วางเป้าหมายไว้ว่า โครงการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2564 ซึ่งจะสามารถดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมซูเปอร์คลัสเตอร์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อันจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการนั้น นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่าศูนย์ ATTRIC ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบฯ แห่งแรกในอาเซียน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% และเปิดให้บริการทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (มอก.2721) เรียบร้อยแล้ว และได้จัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบจำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย ชุดเครื่องมือทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ ชุดเครื่องมือทดสอบห้ามล้อสำหรับรถยนต์บรรทุกและห้ามล้อสำหรับรถยนต์นั่ง 

พร้อมทั้งก่อสร้างสนามทดสอบ 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต ทั้งนี้หากได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เหลืออีกราว 1,600 ล้านบาทในปี 2566 คาดว่าสนามจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบปลายปี 2568

“ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ จะช่วยเร่งรัดการพัฒนาการมาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และยางล้อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และยังยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ลดภาระให้ผู้ประกอบการเพราะต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และยังลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ปีละ 119 ล้านบาท” นายบรรจงกล่าว

นายบรรจงกล่าวว่า สมอ.ยังมีภารกิจสำคัญคือ การพัฒนาและกำกับดูแลองค์กรกำหนดมาตรฐาน ห้องปฏิบัติการทดสอบ หน่วยตรวจ หน่วยรับรองให้มีความพร้อมในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับตามแนวทางสากล ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้วยการมาตรฐาน ตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันอย่างยั่งยืน และยังต้องคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

“สมอ.ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการเชิงรุกในการนำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของ สมอ.ทั้ง 126 รายการที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐาน จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร่วมกันทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด” นายบรรจงกล่าว 

นอกจากนี้ยังการส่งเสริมด้านการมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และผลักดันให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล อาทิ  การจัดทำมาตรฐานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เอสเคิร์ฟ (S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหารนิวเอสเคิร์ฟ (New S-curve) ได้แก่ หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ตามนโยบายรัฐบาล

รวมถึงการให้ความรู้แก่ครู อาจารย์ ในการนำความรู้เรื่องการมาตรฐานและเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไปสอนให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้ปกครอง สังคมและชุมชนใกล้เคียงให้มีความรู้ถึงประโยชน์ของเครื่องหมาย มอก. เลือกซื้อเลือกใช้สินค้าที่มี มอก. เพื่อความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมีมาตรฐาน และให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกระจายอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้เรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานและถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิ์ของตนเองได้ ตลอดจนเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสกรณีพบผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานในชุมชน เพื่อให้ผู้บริโภคในชุมชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีคุณภาพและความปลอดภัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี

รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ

'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์

'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก